Skip to main content

วันที่ 17 มีนาคม 2558  เวลา 10:00-12:00 น. ณ ห้อง Qs2302 ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ (อาคารเรียนรวม) ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก ผศ.ดร.มนตรี กรรพุมมาลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล  จัดบรรยาย “สรุปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2557-2558” โดยมี ชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวชี้แจงโดยสรุปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2557-2558 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และมีวิทยากรที่เกี่ยวข้อง สมศักดิ์ ชื่นจิตร คุณพ่อผู้เสียหายจากการทรมานโดยตำรวจ นรีลักษณ์  แพไชยภูมิ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และภาวิณี  ชุมศรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมี เนาวรัตน์ เสือสอาด ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารองค์กรของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

เรียงซ้ายไปขวา นวรัตน์ เสือสะอาด, สมศักดิ์ ชื่นจิตร, นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ และภาวิณี  ชุมศรี

ชำนาญ จันทร์เรือง : ไม่น่าเชื่อว่า มนุษย์ด้วยกัน ทำการทรมานอย่างโหดร้าย-ทารุณ 
 
ชำนาญ กล่าวว่าผู้คนดำเนินการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนทุกมุมโลก ถึงแม้ต้องเผชิญกับความขัดแย้ง การเลือกปฏิบัติ หรือการกดขี่ก็ตาม ดังเห็นได้จาก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก เช่น การลักพาตัว การฆ่าคนในลักษณะการประหารชีวิต การสังหารเพื่อล้างเผ่าพันธุ์ในวงกว้างในตอนเหนือของอิรักโดยกลุ่มติดอาวุธไอเอสที่ซิเรีย ความขัดแย้งในภาคเหนือระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธ โบโกฮารามที่ไนจีเรีย การทรมาน การข่มขืน กระทำชำเรา และการสังหารหมู่ เหตุจากความขัดแย้งด้านศาสนาที่สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ฯลฯ
 
จาก รายงานประจำปี 2557-2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (คลิ๊กอ่านเพิ่มเติม)  ระบุด้วยว่า สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยของเราด้วย  ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ภาพทรงจำที่เห็นจากสถานการณ์เรียกร้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับภาพของการทรมาน 
 
ภาวิณี  ชุมศรี : การทรมานมีทุกที่ ไม่มีการนำเสนอและสนใจ เหยื่อไม่มีโอกาสเข้ามาเรียกร้อง
 
เนาวรัตน์ ผู้ดำเนินรายการ ถามด้วยว่าแล้วอย่างนี้การทรมานคืออะไร การทรมานแตกต่างจากการทำร้ายร่างกายอย่างไร และการทรมานละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร ?
 
ภาวิณี  กล่าวว่า สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของตัวเราเอง และเชื่อมโยงกับคนอื่นในสังคม การละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการทรมานมนุษย์อาจเกิดขึ้นได้กับตัวเราและคนรอบข้าง ปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนจึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่บรรดาประเทศทั่วโลกยอมรับ เมื่อใจความสำคัญในข้อ 5   ระบุ ว่า  “บุคคลจะถูกทรมานไม่ได้”  ในวันที่ 10 ธันวาคม 2491 เป็นการประกาศเสมือนเจตนารมณ์ ต่อมา กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ระบุย้ำ ข้อที่ 7 “บุคคลจะถูกทรมานไม่ได้” และสุดท้าย บัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะ คือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยี่ศักดิ์ศรี แสดงให้เห็นว่า องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเรื่องการทรมานสูง ไม่ว่าสถานการณ์ใด จะเป็นการทรมานไม่ได้เลย ห้ามเด็ดขาด หรือแม้สถานการณ์นั้น อยู่สภาวะศึกสงคราม หรือกฎอัยการศึก เช่น การประกาศกฎอัยการศึก เท่ากับสิทธิจำกัด  สามารถจับใครก็ได้ไม่มีข้อยกเว้น แต่สิทธิในการทรมานไม่สามารถจำกัดการทรมานบุคคลได้ เพระฉะนั้น เป็นสิทธิเด็ดขาดหรือสิทธิสมบูรณ์  ไม่สามารถอ้างที่จะจำดัดสิทธิดังกล่าวได้
 
ภาวิณี  กล่าวด้วยว่า การทรมานสำคัญมาก เบื้องต้นบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของตน การทรมานที่ร้ายแรงประการหนึ่ง เป็นการกระทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่ศักดิ์สิทธิ  ไม่ยุติธรรม เช่น ตำรวจจับคนร้าย เพื่อยอมรับสารภาพ มาแถลงข่าวตาบวม ซึ่งตรงนั้นเป็นตัวช่วยตำรวจ ศาลตัดสินถือว่าจบ เอาคนร้ายเข้าคุกทันที การทรมานที่ทำให้ตาบวม ถือเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม ทำลายหลักของการสันนิษฐานว่าคนร้าย คือ ผู้บริสุทธิ์ ท้ายที่สุด รัฐจะอธิบายสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็นเหตุจำเป็น เพราะสะดวกรวดเร็ว และประหยัดเวลารวบรวมพยาน หลักฐาน ประกันตัว แจ้งสิทธิ  
 
สำหรับรูปแบบการทรมานนั้น ภาวิณี ระบุว่า มี 2 รูปแบบ คือ การทำร้ายร่างกาย และการทำร้ายจิตใจ เช่น ข่มขู่จะขมขื่นต่อหน้าแฟน เพื่อต้องการคำรับสารภาพที่เป็นผลประโยชน์ต่อรัฐ หรือการลงโทษ ทารุณ ย้ำยี่ศักดิ์ศรี เช่น การนำคนไปศาล ต้องตีตรวนอย่างหนัก ถูกลดถอนศักดิ์ศรี หรือคนในเรือนจำนอนแออัด นอนตรงๆไม่ได้
 
สำหรับการทรมานในประเทศไทย ภาวิณี กล่าวว่า แต่ก่อนการทรมานจนเสียชีวิต จะเห็นได้ชัดเจน เช่น  การถูกซ้อมตามเนื้อตัวร่างกาย แล้วอำพรางศพด้วยการแขวนคอ ภายหลังมา การทรมาน ไม่ปรากฏรองรอย เช่น การเอาถุงคลุมหัว ทำให้เรารู้สึกหายใจไม่ออก เหมือนเราจะตาย ครั้งแรกแย่มาก ครั้งที่สองเริ่มทนไม่ไหว ถามว่าเอาคนผิดลงโทษได้จริงไหม ก็ไม่ได้ หรือทำให้เหมือนจมน้ำ เอาผ้าชุบน้ำไว้ตรงจมูก เอาน้ำหยดไปที่รูจมูก เหมือนคนจมน้ำ ผู้เสียชีวิตถูกทำแบบนี้จริงๆ แต่ไม่มีร่องรอย วิธีการแนบเนียน เป็นผลให้การทรมานไม่หมดไป
 
สมศักดิ์ ชื่นจิตร : จนท.เลือกข้างไม่มีความเป็นธรรมให้ชาวบ้านที่ต้นทุนชีวิตน้อย-คิดแค่ว่าเป็นเวรเป็นกรรม
 
เนาวรัตน์  ผู้ดำเนินรายการ ตั้งคำถามต่อว่า แล้วอย่างนี้ ประสบการณ์การต่อสู้ของคุณพ่อและลูกชายดำเนินมายาวนานมาก เป็นเวลาเกือบ 5 ปี สิ่งที่ลูกชายได้ถูกทรมานมีอะไรบ้าง กระบวนการเข้าสู้ความยุติธรรม เหตุการณ์ในวันนั้นที่ลูกมีสติ เข้ามาขอความช่วยเหลือเป็นอย่างไรบ้าง ?
 
สมศักดิ์ พ่อผู้เสียหายจากการทรมานโดยตำรวจ  เล่าว่า ตนได้พบกับครอบครัว ที่ไม่ยินดีต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในครอบครัว เหตุเกิดเมื่อ 8 มกราคม 2552 ลูกชายนัดหมายกับเพื่อน เพื่อปรึกษาหารือเรื่องการศึกษาที่ห้างใหญ่ประจำจังหวัด ระหว่างกลับบ้าน ขับรถเครื่องได้สักระยะหนึ่ง ตำรวจเรียกจอด ลูกชายก็ขับรถเครื่องตามตำรวจไปสถานี พอถึงสถานีตำรวจให้เพื่อนลูกชายนั่งรออยู่ข้างล่าง ผ่านไปครึ่งชั่วโมง ผู้เสียหายมาถึง ตำรวจร้อยเวร เลยถามว่า ใช่ผู้ต้องสงสัยไหม ผู้เสียหายบอกว่าใช่ จากนั้นผู้เสียหายเดินมาทำร้ายร่างกายและตบหน้า ตำรวจจึงหิวปีก เสมือนแค้นลูกชาย ใส่กุญแจมือไขว้หลัง ทำร้ายร่างกาย เอาถุงคลุมหัว แต่ลูกชายตั้งสติ กัดที่ปากถุง เพื่อมีอากาศหายใจ และออกอุบายล่วงตำรวจ จะพาไปหาคนที่ฝากทอง
 
สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ลูกชายร้องขอติดต่อจากพ่อแม่ ไม่มีสิทธิอย่างใด แต่โชคเข้าข้าง ตำรวจเชื่อ และพาลูกชายออกจากห้อง ซึ่งจากนั้น ลูกชายไม่รู้จะพาไปเอาทองที่ไหน จึงไปร้านขายของชำ เจ้าของร้านขายของชำเป็นพี่ที่รู้จัก ตำรวจให้ชี้ ลูกชายก็ชี้ที่เจ้าของร้านขายของชำ เจ้าของร้านขายของชำก็งง สุดท้ายหาทองไม่เจอ เจ้าของร้านชำโวยวาย เพื่อถามหาต้นเหตุปลายเหตุ เห็นหน้าลูกชายก็ต่อมา ทำทำไม ลูกชายได้โอกาส จึงตะโกนว่า ช่วยหนูด้วย หนูโดนซ่อม หนูไม่ได้ทำ ตำรวจโมโหจึงอุ้มลูกชายขึ้นรถ และถามลูกชายว่า เสียกูไหม ทำอย่างนี้ ส่วนลูกชายกลับมาถึงที่โรงพัก ตำรวจพาตรวจเยี่ยว เยี่ยวมีสีม่วง มีสารเสพติด ตำรวจร้อยเวรให้ติดต่อมาหาผม แล้วบอกลูกชายอย่าเซ็นต์ และผมบอกให้ลูกชายไปตรวจเยี่ยวที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ ผลออกมา ไม่มีสารเสพติด ตำรวจจึงปล่อยตัวกลับบ้าน เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
 
สมศักดิ์ เล่าอีกว่า ลูกชายผมถูกซ้อม ไม่เคยสนใจ ให้ความเสมอประชาชน ในการที่ถูกละเมิดสิทธิ ไม่เคยผูกพันต่อการให้บริการ ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยประสบการณ์ 5 ปี อำเภอ จังหวัด กระทรวง ผมไปเรียกร้องหาความยุติธรรมมาหมด แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ จะเลือกข้าง เลือกฝ่าย ไม่เคยรักษาศรัทธาประชาชน เป็นปัญหาหลักใหญ่ที่ไม่มีความเป็นธรรม ให้ชาวบ้าน ต้นทุนชีวิตน้อย คิดแค่ว่าเป็นเวรเป็นกรรม
 
สำหรับผลกกระทบที่เกิดขึ้นนั้น สมศักดิ์ กล่าวว่ามีความสุขที่อยู่บ้างต้องหายไป ด้วยยาพิษที่ถูกจับกรอกปาก โดนคนเดียวล้มกันทั้งบ้าน แค่ต้องการให้คดีเสร็จเร็ว เอาใจนาย ไม่ครอบคลุม ครบถ้วน เป็นความทุกข์อย่างมหัน ที่ยัดเหยียดให้คนบริสุทธิ์ เพื่อเป็นบันไดสู่ความสำเร็จ ความดี ความชอบ สิ่งสำคัญ สภาพลูกชาย เป็นคนวาดระแวง ไม่กล้าออกไป กลัวว่าจะมีใครอยู่ที่ไหน มีใครมาชี้ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐจับไป ภาพจำของการถูกซ้อมทรมานในครั้งนั้นยังหลอกหลอน ความถูกต้องของประชาชน ลูกชายบอกผมว่า ไม่มีจริง เพราะร้องขอแล้วเหนื่อยล้า ผมทำได้แค่ปลอบใจว่า พ่อจะหาความถูกต้องและความยุติธรรมมาให้ 
 
เนาวรัตน์ ถามต่อว่าแล้วอย่างนี้ ตำรวจเหล่านั้น ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร?
 
สมศักดิ์ ตอบว่า เขาก็ได้รับเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ จากพันตรีเป็นพันเอก แต่เราก็เรียกร้องต่อไป เผื่ออาจจะเจอความยุติธรรม ผมไปทุกหน่วยงานของรัฐทุกกระทรวง ทบวง กรม ผลสุดท้ายไม่มีประโยชน์อะไร แค่สัญลักษณ์ทางจิตใจ
 
กรมคุ้มครองสิทธิ แนะกองทุนยุติธรรม ช่วยในค่าใช้จ่ายและการดำเนินคดี ค่าคุ้มครองพยาน 
 
เนาวรัตน์ ตั้งคำถามต่อว่า ด้านรัฐบาล ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญ ควรป้องกันและคุ้มครองการทรมานอย่างไรบ้าง?
 
นรีลักษณ์ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า การทรมานมีอยู่ ไม่ได้เยอะ ไม่ได้มองว่า ตำรวจเลวร้ายไปหมด คนดีก็มีอยู่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานทางด้านนโยบาย ส่งเสริมดูแลสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนคนละหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นองค์การอิสระ ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ
 
นรีลักษณ์ กล่าวต่อว่า การทรมานเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกใช้ อนุสัญญาตามหลักการคือ เจ้าหน้าที่ห้ามทำการทรมานประชาชน ตอนนั้นเกิดนโยบาย ฆ่าตัดตอนยาเสพติด รัฐจึงเข้าไป เพื่อแสดงเจตนารมณ์เบื้องต้นของรัฐ เป็นภาคตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2550 
 
สำหรับการป้องกันและคุ้มครองการทรมานนั้น นรีลักษณ์ ระบุว่า มีการประกัน เช่น การทรมานไปฟ้องกฎหมายอาญาได้ แต่มีกฎหมายเฉพาะ ทางกรมคุ้มครอง ชื่อ ร่างพระราชบัญญัติการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหาย เราเอาสองเรื่องนี้มารวมกัน เช่น คุณสมชาย วีรไพจิตร UN เขามองว่า เป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นการเอาผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เราก็เลยนำมารวมกัน เพื่อป้องกันการคุ้มครอง สาระสำคัญ กำหนดโทษให้เจ้าหน้าที่ มีมาตรการป้องกัน เช่น การจัดอบรมต่างๆ เอาผิดจากเจ้าหน้าบังคับบัญชา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบหาความจริง จะเสนอเข้าร่างคณะรัฐมนตรีสิ้นเดือนมีนาคมนี้ 
 
การประกันเชิงนโยบาย เรามีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปัจจุบัน เป็นฉบับที่ 3 มีผลบังคับใช้สิ้นเดือนธันวาคม 2557 มีกำหนดการป้องกันการทรมานเอาไว้ ให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย เท่ากับมีหลักประกัน
 
ส่วนการนำไปปฏิบัติบังคับใช้ เราเป็นหน่วยงาน ที่ส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆนำไปปฏิบัติ เราจัดทำหลักสูตรอบรมวิทยากร หลักสูตรเผยแพร่ ส่งมอบให้หน่วยงานต่างๆไปฝึกอบรม ทางกองบรรณาธิการ ก็นำไปสู่การอบรมให้กับตำรวจ เราก็มีจัดอบรมเสวนาเป็นประจำทุกปี เช่น จัดอบรม การต่อต้านการทรมานกับตำรวจ  อบรมเทคนิคการตรวจพิสูจน์ แนวทางในการอบรมแพทย์ ให้ทราบถึงเทคนิคการตรวจพิสูจน์ตามพยานหลักฐานเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงให้สำคัญ 
 
นรีลักษณ์ กล่าวถึงการเผยแพร่ความรู้ ว่า เรามีการจัดทำสื่อ เช่น นิทรรศการ โปรชัวร์ แผ่นพับ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ สิ่งที่ทำได้กับทหาร ทำคู่มือเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภายใต้ ทำเป็นเวอร์ชั่นการ์ตูนให้คนเข้าใจ การทำรายงานประเทศ ส่งให้ทาง UN เรามีการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลส่งไป จากนั้นจัดตั้งผู้แทนไทยไปนำเสนอรายงานด้วยวาจา ที่ UN และUNจะมีข้อเสนอแนะออกมา ว่าเราจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง เช่น จัดทำกฎหมายเฉพาะ สภาพของสถานที่กุมขัง อบรมแพทย์ เยี่ยวยาครอบคลุมทั้งร่างกายจิตใจ ฐานข้อมูลทำสถิติต่างๆของการทรมาน ที่สำคัญเราต้องมีรายงานกลับไปให้เขา ว่าเราพัฒนาอย่างไร
 
สำหรับการเยี่ยวยาเหยื่อจากการทรมานนั้น นรีลักษณ์ ระบุว่า มี 2 แบบ หนึ่งเยี่ยวยานโยบาย เช่น รัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ เยี่ยวยา 7.5 ล้าน สองเยี่ยวยากฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายของจำเลยในคดีอาญา ครอบคลุมความผิดเรื่อง ชีวิตร่างกาย ความผิดทางเพศ ทำแท้ง การทอดทิ้งเด็กผู้ป่วยคนชรา ในอาเซียนมี ฟิลิปปินส์ และไทยที่ใช้พระราชบัญญัตินี้ เป็นการเยี่ยวยาจากหน่วยงานรัฐ โดยมีแนวคิด คือ รัฐมีหน้าที่ป้องกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น กลุ่มคนโดนลูกหลง ซ้อมทรมาน กลุ่มแพะ  พระราชบัญญัตินี้จะคุ้มครองผู้เสียหาย
 
นรีลักษณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ปัจจุบัน กองทุนยุติธรรม จะช่วยในค่าใช้จ่ายและการดำเนินคดี ใช้จ่ายตรวจพิสูจน์ ค่าใช้จ่าย คุ้มครองพยาน เพื่อช่วยค่าใช่จ่ายของคนจน 
 
“พระราชบัญญัติช่วยเหลือ ได้รับค่าสินไหม จากการซ้อมทรมาน จริงๆแล้วถ้าพูดให้สวย เป็นรูปธรรม ยังใช้ไม่ได้ เพราะกฎหมายตัวนี้ผ่านกระบวนศาล ต้องมีคำพิพากษา โดยศาลวินิจฉัยโดยไม่มีข้อกังวลสงสัยใด อยู่ๆ ดีน้องนักศึกษาถูกทำร้าย อย่าคิดและอย่าได้หวังว่าจะใช้ได้ พระราชบัญญัติตัวนี้ ไม่มีทาง เวลาพูด หรือ นโยบาย สวยหรู สร้างภาพ” สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายต่อพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายของจำเลยในคดีอาญา