Skip to main content

ศธ.มอบสช.ศึกษารายละเอียดในพ.ร.บ.การศึกษาเอกชนที่ได้ยกเว้นการเก็บภาษีแก่กลุ่มโรงเรียนเอกชนนอกระบบ พร้อมรื้อระบบติดตามตรวจสอบ ชี้ร.ร.กวดวิชาค้ากำไรเกินควร เน้นธุรกิจต้องเสียภาษี อาจจะยกเว้นร.ร.เพื่อการพัฒนาเด็กและประชาชน ฝากคุรุสภาช่วยสร้างครูมีคุณธรรมจริยธรรม สอนเด็กเต็มเวลาไม่มาสอนพิเศษ เผยตัวเลขธุรกิจกวดวิชาเกือบ 2หมื่นล้านบาทและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

 

หลังจากเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามข้อเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ในการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล สถาบันกวดวิชา เพราะเห็นว่าเป็นโรงเรียนหรือสถาบันลงทุนไม่สูงมากนักแต่กลับมีกำไรค่อนข้างสูงมาก และปัจจุบันไม่มีกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนนิติบุคคล รัฐบาลจึงไม่ได้เข้าไปควบคุมเพราะเป็นเรื่องการศึกษา ที่ประชุม ครม.จึงมีคำสั่งให้ทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการดำเนิน(อ่านรายละเอียด)

วานนี้(11 ธ.ค.) ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ศธ.ได้มอบให้ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในฐานะที่ดูแลโรงเรียนกวดวิชาเป็นตัวแทนหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และได้ให้สช.ไปศึกษารายละเอียดในพ.ร.บ.การศึกษาเอกชนที่ได้ยกเว้นการเก็บภาษีแก่กลุ่มโรงเรียนเอกชนนอกระบบตามมาตรา 15(2)

ซึ่งมีการแบ่งไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงเรียนวัตถุประสงค์เพื่อกวดวิชา โรงเรียนวัตถุประสงค์เพื่อการอาชีพ โรงเรียนวัตถุประสงค์เพื่อศิลปะ โรงเรียนวัตถุประสงค์เพื่อเสริมทักษะ ว่ากลุ่มโรงเรียนหรือสถาบันเหล่านี้มีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ และหากมีการประกอบเน้นธุรกิจมากก็ควรต้องเสียภาษี แต่อาจจะยกเว้นทำเพื่อการพัฒนาเด็กและประชาชน โดยอาจจะมีการจำแนกประเภทใหม่ แต่ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดที่ต้องไปพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง โดยส่วนตัวเสนอว่าหากจะมีการเก็บภาษีแก่โรงเรียนกวดวิชาหรือสถาบันที่ควรจัดเก็บอาจจะเป็นการจัดเก็บภาษีทางอ้อมได้หรือไม่แต่ต้องหารือกับกระทรวงการคลังในเรื่องนี้ นอกจากนี้เรื่องของการเก็บภาษีจะขอให้สช.ไปพิจารณาดูหลักเกณฑ์การขอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชาในปัจจุบันว่าต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยกับยุคปัจจุบันหรือไม่ รวมถึงจะเสนอให้มีการรื้อระบบการตรวจสอบติดตามให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ประโยชน์ตามค่าใช้จ่ายที่เสียไป

ดร.สุทธศรี กล่าวต่อว่าสำหรับกรณีที่มีครูบางคน ไม่ได้สอนในห้องเรียนอย่างเต็มเวลา เพราะต้องการไปเปิดสอนพิเศษให้แก่เด็กนั้น เรื่องนี้ทางศธ.คงไม่สามารถไปลงโทษอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของครูเอง แต่จะขอให้ทางคุรุสภาช่วยไปดูว่าจะหาแนวทางในการสร้างครูอย่างไรให้มีคุณธรรมจริยธรรม จิตวิญญาณความเป็นครู รวมถึงบทลงโทษต่างๆ ว่าควรจะมีหรือไม่หากครูไม่ทำหน้าที่ของครู อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าหากเกิดเป็นครูแล้ว จะต้องเป็นครูที่มีจิตใจเมตตาพร้อมที่จะให้ความรู้และปัญญาแก่ลูกศิษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อว่าที่ผ่านมาสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) ได้ให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการศึกษาวิจัยเพื่อทราบถึงขนาดธุรกิจกวดวิชาในช่วงปี 2553 พบว่ามีมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาทและมีการขยายตัวตามระบบการศึกษาแบบปกติและขยายตัวสู่ภูมิภาคมากขึ้น โรงเรียนกวดวิชาจะมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจสำหรับประเภทเจ้าของคนเดียวอยู่ระหว่าง 12-19% ส่วนธุรกิจกวดวิชาขนาดใหญ่ มีอัตรากำไรสูง40-50% และหากเฉลี่ยโรงเรียนกวดวิชาทุกประเภทกำไรที่ยังไม่ได้ถูกหักภาษีจะอยู่ที่ 21% ส่วนค่าเรียนกวดวิชาเฉลี่ยต่อหลักสูตร 3,000- 5,000 บาท

ทั้งนี้มีข้อเสนอด้านภาษีว่าไม่สมควรจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากโรงเรียนกวดวิชา เนื่องจากเมื่อประเมินโดยรวมจะมีผลเสียมากกว่าผลได้ เพราะราคาค่าบริการที่สูงขึ้น โดยผู้ผลิตบริการสามารถผลักภาระส่วนใหญ่ให้แก่เด็กนักเรียนได้ ดังนั้น กรณีที่ผู้ประกอบการกวดวิชาระบุว่าหากถูกเก็บภาษีอาจจะต้องเพิ่มค่าเล่าเรียนนั้นตนไม่อยากให้มีการเพิ่ม 2.ควรกำกับและตรวจสอบเพื่อให้โรงเรียนกวดวิชามีฐานะนิติบุคคลเพื่อให้เกิดมาตรฐานและความเป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ และ 3.ควรมีมาตราการกำกับดูแลเพดานค่าเล่าเรียน เพื่อไม่ให้มีการค้ากำหนดเกินควร

นายธเนศ เอื้ออภิธร ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันโรงเรียนกวดวิชาสอนภาษาอังกฤษ Enconcept-E-Academy กล่าวว่า รายได้ของโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนถูกต้อง น่าจะไม่ถึงหลักหมื่นล้านบาท น่าจะอยู่ที่หลักพันล้านบาทเท่านั้น และไม่ใช่ว่าโรงเรียนกวดวิชาจะประสบความสำเร็จทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันเปิดเยอะมาก เช่น กลุ่มนักเรียนทุนรัฐ นักเรียนโอลิมปิกวิชาการ ก็มาเปิดกันเยอะ ทำให้ต้องแข่งขันกันที่คุณภาพ คิดว่าการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เป็นการมองปัญหาไม่ตรงประเด็นและไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอะไร เพราะด้านหนึ่งก็บอกว่าต้องการแก้ปัญหาคุณภาพการเรียน แต่อีกด้านก็มองเรื่องรายได้จากภาษี ซึ่งทั้งหมดนี้อยากให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างโรงเรียนกวดวิชากับกระทรวงการคลังและ ป.ป.ช. ที่ผ่านมายังไม่มีการพูดคุยกัน

"การจะนิยามว่าโรงเรียนไหนเป็นธุรกิจ ไม่เป็นธุรกิจ จำแนกยากมาก เพราะการรับเงินจากนักเรียน ก็ถือเป็นธุรกิจแล้ว หรือโรงเรียนที่ลงทุนพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอนหลายร้อยล้านบาทเพื่อนักเรียนและเพื่อความก้าวหน้าของระบบการศึกษาจริงๆควรต้องจัดเก็บภาษีหรือไม่หากจัดเก็บ จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษา ซึ่งการเรียนกวดวิชา ไม่สามารถบังคับผู้ปกครองให้มาเรียนได้ เพราะปัจจุบันมีทางเลือกมากมาย ที่ไหนดีมีคุณภาพเด็กก็ไปเรียน" นายธเนศกล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, มติชนออนไลน์