Skip to main content
รศ.ด้านปรัชญาจากจุฬาฯ ชี้ความดีเป็นเรื่องของส่วนบุคคลที่แตกต่างกันได้ แต่ความถูกต้องนั้นต้องเหมือนกัน 'ภัสรา' อัดระบบอาวุโสส่งผลต่อการไม่ตั้งคำถาม อุปสรรคสังคมอุดมปัญญา 'ณัฐนันท์' ถามความเป็นพลเมืองประกอบ สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ แต่ทำไมการศึกษาไทยเสนอเพียงมุมหน้าที่อย่างเดียว 'บก.ลายจุด' แนะการศึกษาไม่ควรเป็นอุตสาหกรรม แต่ควรเป็นงานศิลปะเพราะแต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเอง

 
ภาพจาก voice TV
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 เวลา 13.00-17.00 ณ ห้อง ศศ.301 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสภาหน้าโดมจัดกิจกรรม เสวนาในหัวข้อเรื่อง ปัญหาการศึกษาไทย : ว่าด้วย คุณสมบัติของเด็กดีในแบบเรียนไทย หลังจากเลื่อนมาจากวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยวิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, ภัสรา บุญฤทธิ์ อาจารย์พิเศษ วิชาสหวิทยาการ คณะสังคมศาสตร์ มธ., ณัฐนันท์ วริทรเวช กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท, พริษฐ์ ชิวารักษ์ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท และสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด

รศ.ดร.โสรัจจ์ ได้กล่าวถึง ปรัชญาความดีในสังคม โดยเน้นย้ำถึงเรื่อง Good & Right  หรือความดีและความถูกต้อง ความดีเป็นเรื่องของส่วนบุคคลที่แตกต่างกันได้ แต่ความถูกต้องนั้นต้องเหมือนกันเพื่อให้คนที่แตกต่างอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ซึ่งในบางครั้งความดีและความถูกต้องก็ไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องศาสนา ความเชื่อต่างๆ เป็นต้น

ขณะที่ ภัสรา กล่าวถึง ขอบเขตและอิทธิพลทางสังคมที่มีผลต่อการเรียนรู้ โดยระบุว่าปัญหาคือการสร้างกรอบความดีให้ทุกคนเป็นตาม ซึ่งมีความคนแตกต่างและเชื่อเรื่องความดีที่ต่างกันไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นเป็นคนไม่ดี  สังคมไทยมีระบบอาวุโสเป็นปัญหาซึ่งส่งผลต่อการไม่ตั้งคำถาม จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมอุดมปัญญาที่ขัดแย้งกับการพยายามให้เด็กเป็นคนดีโดยการเชื่อ จึงมองว่าผู้ใหญ่กำลังเรียกร้องมากไปหรือไม่ ภัสรา ยกตัวอย่างเรื่องทองเนื้อเก้า ว่าไม่สามารถสร้างในยุคปัจจุบันได้เลยต้องสร้างเป็นพิเรียจ

“คุณมองว่าวันเฉลิมเป็นเด็กกตัญญูกับการถูกพ่อแม่เอาเปรียบมันต่างกันนิดเดียว” ภัสตรา กล่าว และยังชวนตั้งคำถามว่าหากวรรณเฉลิมเกิดขึ้นในปัจจุบันวันเฉลิมจะทำอย่างไร

ณัฐนันท์ กล่าวถึงแนวทางการศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 โดยมองว่าปัจจุบันนักเรียนไม่มีอำนาจในการนิยามความดีเอง ค่านิยมถูกทำให้กลายเป็นข้อท็จจริงที่พยายามบังคับให้ทุกคนทำตาม ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาทักษะการคิดวิพากษ์หรือ Critical Thinking การศึกษาปัจจุบันเราไม่ได้เน้นปัจเจก แต่เน้นให้เชื่อในตำราหรืออาจารย์ ซึ่งจะไม่เกิดความรู้ใหม่ๆ การศึกษาแบบ Liberal Education จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการศึกษาที่พัฒนาประเทศมาก

ส่วนวิชาหน้าที่พลเมือง ณัฐนันท์ ได้ตั้งคำถามว่า ความเป็นพลเมืองนั้นต้องประกอบด้วย สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ แต่ทำไมกลับนำเสนอเพียงมุมหน้าที่อย่างเดียว โดยไม่สอนให้รู้จักว่าตนเองมีสิทธิ มีเสรีภาพอะไรบ้าง

พริษฐ์ กล่าวถึงอุตสาหกรรมการศึกษาว่า เหมือนโรงงานคือไม่มีที่ว่างของคำว่า “ทำไม?” เช่น โรงงานทอผ้าที่ไม่มีความละเอียดปราณีต แต่เน้นปริมาณเยอะๆ และเหมือนกันๆ พร้อมทั้งเล่าถึงประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจเกี่ยวกับนิยามความดีและการศึกษา เช่น เพื่อนที่แต่งตัวผิดระเบียบ แต่ตั้งใจเรียนทุกอย่าง พริษฐ์ ตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมถึงถูกมองเป็นเด็กไม่ดี พร้อมกล่าวด้วยว่า “แค่ขัดเข็มให้ขัดมัน ก็เป็นคนดีแล้วหรอครับ มันง่ายมาก” 

“เสรีภาพก็เหมือนกับต้นไม้ แต่ถ้าผู้ใหญ่เอากรอบบางอย่างหรือที่เรียกว่ากระลามาครอบ ต้นไม้ไม่โดนแสงก็เหี่ยวเฉาตาย” พริษฐ์ กล่าว

บก.ลายจุด กล่าวถึงปัญหาการศึกษาว่า เราเรียนมาหลาย 10 ปี แต่จำได้ไม่ถึง 10% และใช้จริงไม่ถึง 1% เท่านั้น การศึกษาไม่ควรเป็นอุตสาหกรรม แต่ควรเป็นงานศิลปะเพราะแต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ควรเรียนเพื่อความเป็นอื่น แม้จะเรียนเรื่องความเป็นไทยก็เรียนเรื่องความเป็นอื่นเพราะไม่ใช่ตัวคุณ โดยธรรมชาติของมนุษย์แท้จริงคือการเรียนรู้ เช่นเด็กมีสัญชาติญาณแห่งการอยากรู้ ซึ่งผู้ใหญ่มักจะเรียกว่า “เล่น” เด็กเรียนรู้เองได้ไม่ใช่การสั่ง หากมีการสั่งจากระบบการศึกษาตลอดเวลา วันหนึ่งเมื่อออกจากระบบแล้วใครจะสั่งสอนให้เรียนรู้  อาจะเป็นปัญหาอย่างมาก

จากนั้นในช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความไม่เป็นธรรมของการศึกษาเช่น เครื่องแบบทำให้รู้สึกถึงสถานะที่แตกต่างจนเด็กไม่กล้าตั้งถาม และการที่ครูใช้อำนาจตามความชอบใจในการบังคับลงโทษต่างๆ เป็นต้น

โดยในตอนท้ายของงานเสวนา ‘ปิง’ หนึ่งในทีมผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้กล่าวถึงกิจกรรมนี้ว่า กลุ่มสภาหน้าโดมต้องออกเงินกันเองค่าสถานที่อยากจัดกิจกรรมดีดีอย่างนี้จริงๆ  เพราะเป็นประโยชน์และเป็นสิ่งที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมปัจจุบัน

 

สามารถติดตามกิจกรรมดีดีและรอรับชมคลิปเสวนาได้ที่แฟนเพจของสภาหน้าโดม https://www.facebook.com/sapanahdome