Skip to main content

เหมือนจะเป็นคำถามในทุกยุคทุกสมัยของนักศึกษา ชั้นปี1 ในหลายมหาวิทยาลัย ที่จะถูกบังคับให้ต้องย้ายมาอาศัยอยู่หอพักของมหาวิทยาลัย โดยมีกฎมากมาย และจำกัดเวลาการเข้าออก อย่างรัดกุม ในขณะบางที่ต้องเช็คชื่อ แสดงตัวตนอยู่ทุกวันด้วย

นักศึกษาบางคนที่ไม่อยากอยู่หอพักก็จะคิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิ บางคนก็คิดว่าเป็นการปิดกั้นให้คนอื่นๆที่มีรายได้น้อยมาอยู่หอพัก และก็จะพบข้ออ้างและกฎระเบียบมากมาย ที่ใช้ควบคุมนักศึกษา  จนหลายคนอาจอึดอัดในการใช้ชีวิต

เด็กหลังห้อง ชวนมาหาคำตอบ กับ ผศ. ดร.ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นักวิชาการที่ศึกษาการเมืองการปกครองและกฎหมายปกครองส่วนท้องถิ่น  เรื่อง การบังคับให้อยู่หอในว่ามีความจำเป็นหรือในการบังคับให้นักศึกษาปี1อยู่หอในและ ข้ออ้างอมตะที่เราเคยได้ยินในการควบคุมนักศึกษานั้น ฟังขึ้นหรือไม่

อาจารย์คิดว่า ควรบังคับให้นิสิตนักศึกษาอยู่หอในไหม?

ผมคิดว่าเราไม่ควรบังคับให้นิสิตนักศึกษาอยู่ในหอใน เราต้องไม่ลืมว่า หอพักในมหาวิทยาลัยมีจำนวนไม่เพียงพออยู่แล้ว และไม่ได้มีแค่นิสิตปี1เท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ปี 2-5 หลายคนก็มีปัญหาอยู่ อย่างบางคนบ้านอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำแต่ต้องไปอยู่หอ มันก็ไม่สมเหตุสมผล หอควรสงวนไว้ให้นิสิตที่มีความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจและในด้านของการเดินทาง

ถ้าในกรณีหอพักมันเพียงพอ แต่มันเป็นปัญหาในการจัดการงบประมาณของหอพัก ?

อันนั้นเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยถ้าคุณทำหอ พอบริหารจัดการแล้วมันขาดทุน นั่นคือความเสี่ยงที่คุณต้องรับผิดชอบ หอพักก็เหมือนการที่คุณไปซื้อกับข้าวกินคุณไม่สามารถไปบังคับ ว่าต้องกินข้าวร้านนี้ได้ ในเมื่อข้างนอกมันมีทางเลือกมากกว่า

เมื่อคุณมาอยู่หอใน สมมุติว่า เราให้เวลาถึง2ทุ่มคุณต้องเข้าหอเช็คชื่อทุกคน เพื่อที่ป้องกัน การเถลไถล ไปให้ไปกินเหล้า สร้างความวุ่นวายข้างนอก มันก็เกิดการควบคุมนักศึกษาขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงอะไร ?

มันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยืดหยุ่นของระบบราชการ คือทุกคนต้องอยู่ในระเบียบแม้แต่เวลาที่นันทนาการ หรือเวลาพักผ่อนของเรา ผมถามว่านิสิตบางคนอยากจะนั่งอ่านหนังสือในคณะมากกว่า แต่คุณต้องกลับหาเช็คชื่อ สองทุ่มครึ่ง มันใช่หรอครับ  บางทีเราเรียนโรงเรียนมัธยมมาพ่อแม่ตั้งกฎว่าอย่ากับบ้านดึก แต่ว่ามันก็ไม่ถึงขนาดที่จะต้องออกมาเป็นกฎเกณฑ์กติกา ที่ต้องใช้อำนาจรัฐเข้ามา

เรามีสิทธิออกไปกินเหล้าไหม?

ถ้าพูดตรงๆเรามีสิทธิออกไปกินเหล้า รวมถึงเรามีสิทธิที่จะกินเหล้าในที่พักของเราด้วย แต่มาบังคับแบบนี้ก็ทำอะไรไม่ได้เลย มันไม่ใช่ มันเป็นสิทธิ

ถ้าคุณตายไปใครจะรับผิดชอบ เราทำเพราะหวังดีนะ ?

คุณตายขึ้นมาคุณก็รับผิดชอบตัวเองครับอันนี้พูดจริงไม่ได้กวน

แต่พ่อแม่ก็จะมาเล่นงานคนดูแลหอนะ?

แล้วจะทำอะไรได้ครับ เต็มที่ก็คือต่อว่า แต่มันคือการรับผิดชอบในความเป็นจริงไหม ไม่ใช่นะครับ  เพราะฉะนั้นอย่างที่บอกว่ามันคนละเรื่องกัน มันเป็นข้ออ้าง ที่ฟังไม่ขึ้น จะต้องไปรับผิดชอบอะไร ต้องจ่ายเงินชดเชยหรอก็ไม่ใช่

แล้วไม่เห็นคุณค่าในชีวิตของชีวิตคนคนหนึ่งหรอ ?

ถ้าโตขนาดนี้แล้วรับผิดชอบตัวเองไม่ได้อย่ามาเรียนครับ คือการเรียนในชั้นอุดมศึกษามันคือการที่คุณต้องรับผิดชอบตัวเองทั้งหมดแล้ว คุณจะไปกินเหล้าหรือจะไปทำอะไรก็ตาม มันไม่ใช่หน้าที่ของคนอื่นที่จะต้องมารับผิดชอบชีวิตคน

แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีวุฒิภาวะเพียงพอ บางทีโดนกดดันจากบ้านแล้วก็มาปลดปล่อยที่นี้ ?

นั้นชี้ให้เห็นว่า ยิ่งเราต้องทำแบบนี้ต่อไปเด็กก็จะยิ่งคิดไม่ได้ คือเรายิ่งไปกำหนดกรอบระเบียบเด็กก็จะยิ่งคิดไม่ได้ มันไม่เกี่ยวกันเลย ผมคิดว่า เราไม่ควรทำให้นักศึกษายิ่งเป็นเด็กที่ควรควมคุมสอดส่องตลอดเวลา แล้วเมื่อไหร่เขาจะโต เราห้ามกินเหล้าห้ามหมดทุกอย่าง เขาก็ไม่โต สุดท้ายแล้วมหาวิทยาลัยที่จะบอกว่า จะผลิตนักศึกษาที่คิดเป็น แต่พอเข้ามาจริงๆมีกฎระเบียบเต็มไปหมดมีกฎระเบียบโน่นนี่ สรุปแล้วเราต้องการคนปฏิบัติเหมือนๆกันหรือต้องการคนคิดเป็น

ผมยกตัวอย่างให้ฟังกรณีหนึ่ง ม.นเรศวร มีเรื่องของการบังคับใส่หมวกกันน็อค เรามีกฎหมายอยู่แล้วว่าขับขี่มอเตอร์ไซค์ต้องใส่หมวกกันน็อค นิสิตหลายคนเลือกที่จะไม่ใส่เพราะอะไร มันเสียทรง มันไม่สะดวก บางคนใส่ตบตา รปภ. เพื่อให้เข้าในมหาลัยได้  สุดท้ายตาย ถามว่าใครรับผิดชอบ นิสิตก็ต้องรับผิดชอบตัวเองครับ  คือกฎหมายบอกให้คุณใส่ มหาวิทยาลัยก็รณรงค์กึ่งบังคับให้คุณใส่  ถามว่านิสิตรู้ไหมว่าไม่ใส่หมวกกันน็อคมันผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นการเลือกของนิสิตเอง