Skip to main content

 

เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. เปิดเผยถึงโครงการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ในโรงเรียนนำร่องกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ หลังดำเนินโครงการผ่านมาแล้ว 2 เดือน โดยพบว่าครูมีความสุขกับการร่วมกิจกรรม ร้อยละ 93 ส่วนชุมชนรอบโรงเรียนก็ตื่นตัว และให้ความร่วมมือกับโรงเรียน ร้อยละ 60

ขณะที่เด็กนักเรียนมีความสนุกสนานกับการทำกิจกรรม เช่น ดนตรีและกีฬา แต่ยอมรับว่ายังมีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น สถานที่ไม่เพียงพอต่อการทำกิจกรรม โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กรวมไปถึงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ยังมีหลายโรงเรียนไม่ตอบสนองการพัฒนาการคิดวิเคราะห์และการพัฒนาคุณลักษะนิสัย ซึ่งจะต้องปรับปรุงและพัฒนาต่อไป สำหรับในปีการศึกษา2559 สพฐ.จะขยายโครงการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ไปอีก 10,600 โรงทั่วประเทศ โดยจะเริ่มที่โรงเรียนที่ได้เริ่มทำกิจกรรมคู่ขนานกันมาก่อนแล้ว รวมถึงจะเปิดให้โรงเรียนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการสมัครเข้ามาด้วย
 
นอกจากนี้ในที่ประชุมสพฐ. และผู้บริหาร เตรียมดำเนินการจัดสร้างโรงเรียนเพื่อผู้พิการด้านต่างๆ 2 แห่ง รวมถึงให้มีการสำรวจการจ้างงานผู้พิการในสถานศึกษา ตามนโยบายของรัฐบาล ขณะเดียวกันยังเตรียมทำหนังสือเวียนขอให้ครูอบรมพัฒนาวิชาชีพเฉพาะวันหยุดหรือช่วงปิดเทอมเท่านั้น เพื่อเป็นการคืนครูสู่ห้องเรียน
 
นายการุณ  ยังเปิดเผยด้วยว่า ที่ประชุมผู้บริหาร สพฐ. ได้หารือเรื่องการสร้างเด็กให้มีวินัย รู้จักหน้าที่ของตนเอง ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการ ซึ่งผู้บริหาร สพฐ.ได้หารือร่วมกันแล้วเห็นว่าจะฟื้นโครงการในอดีตที่เคยปฏิบัติแล้วได้ผล เช่น การให้นักเรียนเข้าแถวจากบ้านแล้วเดินไปโรงเรียนอย่างเป็นระเบียบ โดย สพฐ.มีแนวคิดที่จะทำกิจกรรมให้ชัดเจนแล้วออกเป็นคู่มือ มอบเป็นนโยบายให้เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศนำไปปฏิบัติให้เห็นผลอย่างชัดเจน เช่น ให้นักเรียนทุกคนมาโรงเรียนทันเวลาก่อนเข้าแถว การเดินแถวขึ้นห้องเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ จะหารือร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีกำหนดกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติจนเกิดความมีวินัย นอกจากนี้ ยังจะขยายผลโครงการโรงเรียนคุณธรรมอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างเด็กให้มีจริยธรรม และวินัยอีกด้วย
 
นายการุณกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ.ยังมีนโยบายจับคู่เด็กเก่ง สร้างจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือ และดูแลเพื่อน โดยเริ่มจากเด็กที่ผ่านการแข่งขันโอลิมปิคคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ได้รับเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง 109 คน ให้เลือกจับคู่กับเพื่อนตามความสมัครใจเพื่อพัฒนาการเรียนร่วมกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับทางโรงเรียน และหลังจากดำเนินการไป 1 ภาคเรียน สพฐ.จะประเมินผลการเรียนว่าเด็กที่ถูกจับคู่มีการพัฒนาขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ สพฐ.ยังมีครูเก่งสุดยอดที่ได้รับรางวัลอีก 139 คน โดยจะให้ครูเหล่านี้จับคู่กับเพื่อนครูเช่นกัน เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นตามโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์ และ TNN24