Skip to main content

21.30 น. ของวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ภายหลังจากที่กลุ่มนักศึกษาผู้ร่วมกิจกรรม “นั่งรถไฟ ไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ที่ถูกควบคุมตัวกลุ่มสุดท้ายได้รับการปล่อยตัวยังไม่ทันจะครบชั่วโมงดี สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (SCCU) ได้ออกแถลงการณ์เพื่อยืนยันสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของนิสิต นักศึกษา และประชาชน

ใจความสำคัญของแถลงการณ์ฉบับนี้คือ การร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องตามแนวทางของแถลงการณ์จากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และร่วมยืนยันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติและบริสุทธิ์ใจ อีกทั้งยังแสดงความกังวลใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งของผู้คนในสังคมได้

หากเปรียบเทียบกับแถลงการณ์ฉบับอื่นจากกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ภายในวันเดียวกัน เนื้อหาในแถลงการณ์ฉบับนี้ อาจจะไม่ได้รุนแรง หรือมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่ออำนาจอันอยุติธรรมที่ดำเนินการต่อนิสิต นักศึกษา และประชาชนเท่าไรนัก แต่แถลงการณ์ฉบับนี้ก็มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ ในการประกาศจุดยืนจากองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทันทีที่แถลงการณ์ฉบับนี้เผยแพร่ออกไปก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และถูกส่งต่ออย่างเป็นวงกว้าง มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทั้งชื่นชม และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับที่มา และอำนาจของสภานิสิตในการออกแถลงการณ์อย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งนิสิตจุฬาฯ นิสิตเก่า บุคลากร และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นบรรยากาศที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก จากช่วงชีวิตของผู้เขียนที่ได้ศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ความน่าสนใจและสาเหตุที่ทำให้แถลงการณ์ฉบับนี้ได้รับการเผยแพร่และส่งต่ออย่างกว้างขวาง ประการแรกน่าจะเป็นเพราะ แถลงการณ์ฉบับนี้ถือเป็นแถลงการณ์ฉบับแรก ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน ที่ออกมาจากสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นองค์กรตัวแทนนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

ประการที่สอง ในภาพจำของประชาชนทั่วไป ที่อาจติดตามข่าวสารการเมืองมากบ้าง น้อยบ้าง เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็มีภาพจำที่ฝังลึก จากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ครั้งนั้นเราได้เห็นนิสิตจุฬาฯ อาจารย์จุฬาฯ ขึ้นไปพูดบนเวทีปราศรัย เราได้เห็นการใช้พื้นที่ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดตั้งขบวนเพื่อร่วมเดินไปชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. เราได้เห็นการตั้งซุ้มแจกอาหารและเครื่องดื่ม จากกลุ่มจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม ฯลฯ ณ เวทีชุมนุมสี่แยกปทุมวัน หน้าห้างสรรพสินค้า MBK (ผู้เขียน: ยังจำได้ว่าวันนั้นไปต่อแถวเอาข้าวฟรีจากซุ้มนี้มาได้ 4 กล่อง) 

ถึงแม้ว่า ณ เวลานั้น จะมีกระแสจากผู้ที่ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่ม กปปส. จากภายในจุฬาฯ ที่ออกมารณรงค์ให้หยุดใช้ชื่อจุฬาฯ เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว หรือการริเริ่มเชิญชวนประชาคมจุฬาฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ออกมาจุดเทียน ในวันเดียวกันกับที่มีการจุดเทียนที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก แต่เรื่องราวทั้งหมดนั้น แทบจะถูกกลบไปด้วยบรรยากาศแห่งการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จน “จุฬาฯขั้วนี้” แทบจะถูกมองข้ามและถูกลืมไป

ความรู้สึกนึกคิด และภาพจำของผู้คนนี้เอง มันค่อนข้างขัดแย้งกับแถลงการณ์จากสภานิสิต ฯ ที่แถลงออกไป ด้วยเหตุทั้งสองประการนี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกนักที่แถลงการณ์ฉบับนี้จะได้รับความสนใจ และถูกแชร์ต่ออย่างเป็นวงกว้าง

ในทรรศนะของผู้เขียนบทความ ทันทีที่ได้เห็นแถลงการณ์ ผู้เขียนรู้สึกตกใจ แทบไม่เชื่อว่าจะมีแถลงการณ์ในลักษณะนี้ออกมาจากองค์กรซึ่งเป็นตัวแทนของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ อาจจะเป็นเพราะไม่เคยคาดหวัง ถึงแม้ผู้เขียนจะตระหนักดีว่าในสังคมภายในมหาวิทยาลัย ก็มีคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่หลากหลายอยู่ร่วมกัน

นอกจากนี้ ในแง่ของเนื้อหาของแถลงการณ์ ถึงแม้จะไม่ได้มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนดังแถลงการณ์จากกลุ่มอื่นๆ แต่ผู้เขียนก็ตระหนักถึงความเป็นสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งมีจุดประสงค์ในการดำเนินงานที่แตกต่างไปจากกลุ่มการเมืองต่างๆ การแถลงการณ์จากสภานิสิต ฯ จึงต้องมีความรัดกุม ดังจะเห็นได้ว่า ภายหลังจากที่แถลงการณ์ฉบับนี้เผยแพร่ออกไป สภานิสิต ต้อง “แถลงการณ์อีกฉบับเพื่ออธิบายแถลงการณ์ฉบับเดิม” ซึ่งหากมองในกรอบของบทบาทและหน้าที่ของสภานิสิต ผู้เขียนมองว่าสภานิสิต แถลงการณ์ทั้งสองฉบับออกมาได้อย่างเหมาะสม และน่าชื่นชม

สุดท้ายนี้ อยากจะเชิญชวนผู้อ่านทุก ๆ ท่าน ให้มองมาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างพินิจพิจารณาอีกสักครั้ง ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่ได้เป็นดง หรือเป็นแหล่งของกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือสังคมอื่นๆ ซึ่งมีคนอยู่มากมายที่อาจจะมีความคิดเห็น และทัศนคติต่อเรื่องทางสังคมและการเมือง ที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน

และช่วยให้พื้นที่ “คนจุฬาฯ” รวมถึงประชาชนคนอื่นๆ ที่อาจจะเพิ่งเริ่มตั้งคำถามต่อความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น ภายหลังจากที่ได้อ่านแถลงการณ์ ได้เรียนรู้ และพยายามทำความเข้าใจไปพร้อมกับทุกคน เพราะยิ่งผู้คนได้คิด ตั้งคำถามต่อสังคม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผลมากขึ้นเท่าไหร่ เมื่อนั้น วัฒนธรรม และแนวคิดด้านประชาธิปไตย ก็จะยิ่งฝังรากลึกลงไปในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น..

แถลงการณ์ของสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย SCCU

 

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Chulalongkorn Community for the People (CCP)