Skip to main content

จากกรณีเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยร่วมกันออกแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” และได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นการละเมิดคำสั่ง คสช. (อ่านเพิ่มเติม : https://tlhr2014.wordpress.com/2015/11/23/chiangmai_academics2/)

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน  2558 เวลาประมาณ 15.00 น. เครือข่ายคณาจารย์ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป โดยมีทั้งนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมให้กำลังบริเวณหน้า สภ.ช้างเผือก

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ  17.00 น. เครือข่ายคณาจารย์ได้ออกจาก สภ.ช้างเผือก ทางด้านประตูหลัง และแจกใบแถลงการณ์พร้อมประกาศคำแถลงการณ์ ดังนี้

“แถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย

เรื่อง “ยืนยัน มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”

ภายหลังจากการอออกแถลงการณ์ของเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยในประเด็นเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ก็ได้มีนายทหารเข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น ทางเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยใคร่ขอชี้แจงถึงความจำเป็นและความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความเห็นอีกครั้ง ดังนี้

ประการแรก เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอยืนยันว่าการแถลงการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่มิได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด โดยถือเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นในประเด็นปัญหาของการจัดการศึกษาอันเป็นภาระหน้าที่โดยตรงของบุคลากรมหาวิทยาลัย การแสดงความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยการใช้เหตุผลในการชี้แจงให้เห็นถึงความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อระบบการศึกษาไทยในมหาวิทยาลัยบนพื้นฐานของการให้ความสำคัญกับเหตุผลและการถกเถียงระหว่างฝ่ายต่างๆมิใช่การยัดเยียดความรู้แบบไร้การคิดวิเคราะห์ให้กับผู้เรียน

ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวก็เป็นการแสดงความเห็นอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสื่อสารกับสาธารณะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องกับการศึกษาในมหาวิทยาลัย การกล่าวหาว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองย่อมถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ดังจะเห็นได้ว่ามีการประชุมทางวิชาการและการชี้แจงถึงความเห็นของกลุ่มต่างๆเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมไทย ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยเฉพาะทางฝ่ายทหารควรจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจมากขึ้นเพื่อเข้าใจถึงมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับกันในปัจจุบัน

ประการที่สอง เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มในสังคม ทั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติที่ทุกสังคมย่อมจะมีความเห็นที่แตกต่างกันไปในประเด็นต่างๆ การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นแนวทางของการทำให้เกิดการถกเถียง การแลกเปลี่ยนและการตรวจสอบถึงความเข้าใจของแต่ละฝ่าย ความคิดเห็นไม่ว่าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็สามารถที่จะถูกตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการชี้แจงถึงข้อมูลและเหตุผลของแนวความคิดที่ตนเองยึดถือ การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยก็ย่อมเป็นไปเพื่อทำให้เกิดการทำความเข้าใจบนพื้นฐานของความรู้ที่รอบด้านและด้วยการใช้เหตุผลในการตัดสินใจเป็นสำคัญ มิใช้เพียงการปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมรองรับ

นอกจากนี้แล้ว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็มิใช่จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัยเท่านั้น พลเมืองทุกคนในสังคมก็ย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากในห้วงเวลาปัจจุบันมีการดำเนินนโยบายของรัฐ การร่างรัฐธรรมนูญ การบัญญัติกฎหมาย ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมทุกคนจึงย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการต่างๆเหล่านั้น การคุกคามหรือปิดกั้นเสรีภาพของบุคคลใดๆ เป็นเพียงการกดทับปัญหาเอาไว้ มิได้ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหาตลอดจนความขัดแย้งในสังคมอย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องและมิใช่เพียงสำหรับผู้ประกอบอาชีพอาจารย์เท่านั้น เพราะไม่ใช่แต่เฉพาะมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ไม่ใช่ค่ายทหาร หากแต่สังคมไทยก็มิใช่ค่ายทหารเช่นเดียวกัน ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกคนและทุกฝ่ายจึงต้องได้รับการปกป้องอย่างเสมอภาคและทัดเทียมกัน”

 

ด้านเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการเข้ามอบตัว ให้ข้อมูลว่า คณาจารย์ทุกท่านให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ว่าคำให้การจะขอทำเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อพนักงานสอบสวนภายในไม่เกิน 30 วัน นอกจากนั้นก็ทำตามขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ปกติ เช่น พิมพ์ลายนิ้วมือ เซ็นชื่อ ลงบันทึกประจำวัน ทั้งนี้ ผบมทบ33 เป็นผู้มอบอำนาจให้แก่นายทหารพระธรรมนูญเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหามั่วสุมและชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/58

ในอีกด้านหนึ่ง หนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมให้กำลังใจคณาจารย์ในวันนี้  เปิดเผยทัศนะว่า ตนไม่เห็นด้วยกับกรณีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่คณาจารย์ เพราะถือว่าไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน นักวิชาการเป็นเหมือนแสงสว่างให้สังคม การจับนักวิชาการจะทำให้สังคมตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว มืดบอดทางปัญญา นอกจากนี้ ยังเผยต่อว่า การกระทำแบบนี้ไม่เหมาะสม เนื่องด้วยไม่มีใครสมควรโดนจับด้วยกรณีการใช้เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นแบบนี้