Skip to main content

เมี่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีคำพิพากษาที่มีความสำคัญครั้งใหญ่ต่อประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของกลุ่ม LGBTiQ [Lesbian-Gay-Bisexual-Transgender-Intersexual-Queer] คือ การรับรองสิทธิการสมรสและการให้การปกป้องที่เท่าเทียมแก่คู่รักเพศเดียวกัน และคู่รักที่ถูกจัดประเภทให้อยู่ในกลุ่ม LGBTiQ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้กำลังบังคับใช้กฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญเรื่องการลิดรอนสิทธิและสวัสดิการของพลเมืองภายในประเทศของตน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเวลานี้ผู้เขียนขอแสดงความยินดีด้วยอย่างจริงใจที่สามารถร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่มก้อนตนเองจนประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นว่าการต่อสู้ของทุกๆคนยังไม่จบเพียงแค่เวทีนี้ แม้ว่าความสำเร็จในการต่อสู้ของกลุ่ม LGBTiQ ในสหรัฐอเมริกาจะเป็นการจุดประกายให้แก่การต่อสู้ และขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนที่ถูกผลักออกจากปริมณฑลทางการเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะสิทธิในการแต่งงาน และการอยู่อาศัยร่วมกันกับคู่รักของตน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน และสมควรที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นเวทีต่อไปของการต่อสู้เพื่อสร้างตัวตน (Identity Politics) ของกลุ่ม LGBTiQ คือ การอยู่ในระบบความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันของการจัดลำดับและระเบียบภายในสังคม ที่ยึดมาตรฐานการมีชีวิตร่วมกับเพศตรงข้าม (Heteronormativity)[1] หรือเรียกกันว่า มาตรฐานการจัดระเบียบชีวิตความเป็นอยู่แบบระบบครอบครัว ซึ่งตกทอดมาตั้งแต่อดีต แม้แต่ในวิถีการคิดว่าด้วยระบบความสัมพันธ์ที่ประกอบกันขึ้นจนเป็นรัฐ (Marital Association) ของ Aristotle[2]

แนวคิดดังกล่าวมีส่วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มุมมองและลักษณะการคิดของคนในสังคมตกอยู่ในหลุมพรางของความคิดแบบคู่ตรงข้าม (Binary Logic) ที่มีความเข้มข้นสูง จะสร้างให้เกิดภาพสำคัญขึ้นในมโนทัศน์ของทุกๆคนว่า โลกนี้มีเพียงสิ่งที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว เมื่อผู้หญิงก็ต้องมีผู้ชาย และมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเพียงเพศสองเพศ ไม่มีสิ่งใดนอกเหนือไปจากนี้ สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นมาตรฐานหลักของความเป็นมนุษย์ที่คนส่วนใหญ่ได้รับเข้าไปใช้โดยไม่รู้ตัว ที่แสดงออกผ่านเสื้อผ้า สี และสัญลักษณ์ต่างๆ ภายในชีวิตประจำวัน จนมันกลายเป็นเรื่องปกติที่หลายๆคนได้มองข้ามไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ใด ที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมที่ผิดแผกไปจากมาตรฐานที่อยู่ภายในระบบความสัมพันธ์หลักของสังคม ก็จะถูกทำให้กลายเป็น ‘คนนอก’ ไปในทันใด การทำให้กลายเป็นคนนอกหรือทำให้กระเด็นตกไปอยู่ ณ ปริมณฑลชายขอบ (Marginalization) ที่เกิดขึ้นมีหลากหลายรูปแบบ แต่รูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วผู้คนละเลยมากที่สุด คือการที่สังคมยอมรับในมาตรฐานของการจัดแบ่งเพศในรูปแบบขั้วตรงข้ามภายในชีวิตประจำวัน โดยเพิกเฉยต่อการจะออกมาตั้งคำถาม ถึงมาตรฐานดังกล่าว การจัดแบ่งเพศในรูปแบบดังกล่าว นำมาซึ่งการสร้างการแบ่งชนชั้นภายในสังคมและระบบความสัมพันธ์ของประเด็นเรื่องเพศออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้คนที่สังกัดอยู่ในระบบมาตรฐานการจัดประเภทหลัก (Heterosexual Metric) ที่มีเพียง หญิง และ ชายตามธรรมชาติดั้งเดิมเท่านั้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มที่อยู่นอกเหนือจากการจัดประเภทแบบขั้วตรงข้าม (Non-Heterosexual Metric) ซึ่งเป็นกลุ่มที่หลุดออกจากระเบียบมาตรฐานดั้งเดิมของเพศ และมักถูกตีตราจากสังคมไปโดยอัตโนมัติ จากสาเหตุที่สังคมกระแสหลักนั้นตกอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถจะหาคำอธิบาย หรือ รับมือกับสิ่งที่ผิดไปจากมาตรฐานที่ฝังอยู่ในความคิดของตนเองได้ จึงเกิดการ ‘จัดแบ่งประเภทแบบย่อยๆ’ (Subcategorize) ขึ้นตลอดเวลา เพื่อทำการจับยึดและดึงสิ่งที่แปลกปลอม ซึ่งปรากฏอยู่ในฐานะของการเป็น ‘วัตถุแห่งความไม่เข้าใจ’ ให้เข้ามาอยู่ในปริมณฑลหลัก ผ่านการตีตรา ประทับตรา หรือนิยามเพื่อ ‘สร้างให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน’ โดยมิได้คำนึงถึงประเด็นของผลข้างเคียงในการกระทำดังกล่าวว่าจะส่งผลให้มีการสร้างพื้นที่ชายขอบไว้เป็นกรงขังพวกเขาไว้หรือไม่ เช่นการสร้างคำว่า เพศที่ 3, เพศทางเลือก, เพศชายขอบ, เบี่ยงเบนทางเพศ, กลุ่มรักร่วมเพศ[3], หรือแม้แต่คำว่า หลงเพศ ที่สามารถพบได้ทั่วไปเป็นปกติในแบบเรียนวิชาสุขศึกษาในโรงเรียนที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ[4] รวมไปถึงสถานะและบทบาทของ ‘สาวประเภทสอง’  ที่ถูกนิยามและตีตราให้เป็นได้แค่เพียง ‘ตัวตลก’ ที่ต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำและน่ารังเกียจเสมอไปผ่านการนำเสนอผ่านภาพยนตร์ไทย หรือแม้แต่ ‘ส้มส้มและผองเพื่อน’ ตัวละครหนึ่งใน TV Series เรื่อง Hormones Season 3 ที่ไม่ได้เข้าใจและไม่ได้เคารพในเพศสภาพ ของผู้อื่นและจะทำการตีตราโดยขาดความเข้าใจต่อความหลากหลายทางเพศไปเสมอๆ

จนกลายเป็นว่า หลายๆท่านที่มีลักษณะตรงกับ ‘สิ่งที่สังคมไม่เข้าใจ’ นี้ได้ถูกจัดให้เข้าไปสู่การเป็นกลุ่มก้อนหนึ่งๆที่สังคมเข้าใจในฐานะสิ่งที่อยู่ภายใต้อีกสิ่งหนึ่งโดยที่อีกสิ่งนั้นมีความสำคัญและมีพื้นที่ยืนกว้างขวางและเหนือกว่า (Subset) ลักษณะของ Subset แบบนี้จะปรากฏออกมาในรูปของชุดความเข้าใจต่างๆเกี่ยวกับ LGBTiQ ตัวอย่างเช่น การที่ผู้ชายคนใดคนหนึ่งจะมีความชื่นชอบต่อเพศชายด้วยกัน เขาผู้นั้นก็จะถูกตีตราว่าเขาไม่ใช่ ‘ผู้ชาย’ แต่เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่แปลกปลอมไปจาก ‘ผู้ชาย’ ตามวิสัยที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ (Predetermined Classification) และจะนำไปสู่การจัดสรรให้คนคนนั้นกลายเป็น ‘Subset ของผู้ชาย’ ไปในทันใด เช่นเดียวกับผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงก็จะกลายเป็นสิ่งที่สังคมไม่ได้เห็นเธอในฐานะที่เธอเป็นผู้หญิงแต่เธอจะกลายเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ผู้หญิง แต่ก็อยู่ภายใต้การเป็น ’Subset ของผู้หญิง’ หรือแม้แต่ผู้ชายที่ถูกนิยามจากสังคมว่าเป็นตุ๊ด หริอ กระเทย นั่นก็เพราะเขามีความอยากเป็นผู้หญิง ซึ่งหมายถึง เขาอยากที่จะเข้าสู่ความเป็น ‘ผู้หญิง’ ไม่ได้หมายความว่า อยากจะเป็น ‘ตุ๊ด หรือ กระเทย’ ตามที่สังคมพยายามจัดให้เขา ส่วนนี้เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นถึง Pattern หรือรูปแบบชีวิตทางสังคมของสังคมไทยไม่ว่าจะผ่านภาพยนตร์ การล้อเลียน การแสดงความรังเกียจ ที่เอื้อต่อการปรากฏตัวของ ‘การเหยียดเพศ’ ที่ถูกสถาปนาขึ้นจนกลายเป็นพฤติกรรมร่วมของคนในส่วนใหญ่ของสังคม แม้คนในสังคมอาจจะกระทำการเหยียดไปโดยไม่รู้ตัวก็ตาม แต่มันก็ได้กลายเป็นรากที่ฝังลึกลงไปในสังคม (รวดไปจนถึงสังคมโลกไปแล้ว ในหลายๆพื้นที่ ที่ยังคงมีการเหยียด และการแสดงความเหยียดหยามต่อเพศที่ถูกจัดให้เป็น Subset อยู่เรื่อยๆ ดังจะเห็นตัวอย่างที่แสดงออกมาผ่าน ‘วัฒนธรรมการใช้ภาษา’ อย่าง ‘คำด่า’ ในภาษาอังกฤษ เช่น ‘Faggot’ , ‘Fuck that Gay !!’, “Look at that Homo Lol” ที่ล้วนเป็นคำที่ถูกนำมาใช้และสอดใส่ความหมายให้กลายเป็นคำในเชิงเหยียดหยาม ซึ่งแปลเป็นไทยก็จะออกมาได้ประมาณว่า “ไอ้เกย์ !!” ในลักษณะที่ว่า “เกย์” กลายเป็นคำที่ถูกสร้างให้เกิดความเข้าใจในฐานะการเป็นคำด่า คำดูถูกเหยียดหยามไปซะแล้ว เหตุการณ์อย่างนี้ยังคงปรากฏออกมาตลอด ไม่ว่าจะในโลกของภาษาไทยหรือโลกภาษาอังกฤษ โดยผู้เขียนเห็นว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่สังคมควรจะร่วมกันแก้ไขต่อไป)

ดังนั้นการต่อสู้ที่จะพึงมีพึงเกิดในเวทีต่อไปของท่านๆ (กลุ่ม LGBTiQ) นั้น มันควรจะเป็นเวทีดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นนี้ คือ การต่อสู้ต่อไปเพื่อที่จะทำการลบล้างการนิยาม ลบการจัดประเภทระดับย่อยต่างๆที่ คนในสังคมได้ตีตราไว้เหนือตัวตนของพวกท่านในฐานะที่พวกเขาเชื่อว่าพวกท่านคือสิ่งแปลกปลอมจากกลุ่มใหญ่กลุ่มความสัมพันธ์กระแสหลักของพวกเขา ผู้เขียนจึงมีความคิดเห็นว่า การต่อสู้และชัยชนะที่พวกท่านพึงแสวงหาในระดับถัดไป คือ เวทีของการลบล้างการจัดประเภท การนิยามตีตราสถานะตัวตนของพวกท่าน คือ จะต้องไม่มีการไปนิยามว่าพวกท่านคือ เกย์ กระเทย ทอม ดี้ เควียร์ เลสเบี้ยน ฯลฯ อีก แต่จะเป็นการนิยามพวกท่านในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์แบบคนปกติทั่วๆไป ที่ไม่มีสิ่งใดแตกต่างจากผู้ชายและผู้หญิง เพราะท่านคือมนุษย์ที่มีและสามารถจะเลือก ‘เพศสภาพ’ ของตนเองได้ เมื่อท่านมีความประสงค์อยากจะเป็นผู้หญิงท่านจงเป็นผู้หญิง เมื่อท่านมีความประสงค์อยากจะเป็นผู้ชาย ท่านจงเป็นผู้ชาย เมื่อท่านเป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชายด้วยกัน ท่านก็จงเป็นอย่างที่ท่านต้องการ โดยตัวท่านเอง มิใช่ท่านเป็นเพราะสิ่งใด หรือ เพราะสังคมอนุญาต/สั่งให้ท่านเป็น

ซึ่งจากความเป็นจริงแล้วการที่ท่านจะมีรสนิยม หรือความชื่นชอบ รวมถึงเพศสภาพเป็นอย่างไรจะต่างจากกระบวนทัศน์หลักเรื่องผู้ชายหรือผู้หญิงเช่นไร ไม่ว่าท่านจะถูกนิยามว่าเป็นตุ๊ด กระเทย เกย์ ทอม ดี้ หรือเลสเบี้ยน มันก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะต้องตกอยู่ในสภาวะครึ่งๆกลางๆระหว่างความเป็นชายและหญิง เพราะเมื่อท่านเลือกที่จะทิ้งเพศสภาพตั้งต้น [ที่ติดมากับร่างเนื้อที่ปรากฏตั้งแต่เกิด] ไปสู่การมีเพศสภาพหรือสถานะใหม่ที่ท่านอยากจะเป็น นั่นก็หมายความว่า ตัวท่านได้ลบตัวตน (Subject) ของความเป็นเพศเดิมของตัวท่านเองไปแล้ว นับแต่นั้นตัวตนของท่านก็ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ในทันทีทันใด เมื่อท่าน ‘เลือกที่จะเป็น’ อะไรอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่สิ่งเดิม หรือเพศสภาพเดิม นั่นคือสิ่งที่ท่านเลือก แต่ไม่ว่าท่านจะเลือกมีเพศสภาพแบบใด ตัวตน Subject แบบใด ท่านก็ยังคงอยู่ในสถานะของความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆ ที่สังคมมองว่าเป็นชายแท้ หรือ หญิงแท้

การสลายตัวตนเก่า/ดั้งเดิมของท่าน แล้วไปสู่เพศสภาพใหม่นั้นไม่ได้หมายความว่า ท่านจะตกอยู่ในสภาวะ ‘สุญญากาศ’ หรือ สภาพครึ่งๆกลางๆ ระหว่างเพศใดเพศหนึ่ง ที่สังคมมองว่าเป็น ‘ความผิดพลาด/ผิดแปลก’ (Error) หรือ ‘ไร้เพศ’ จากการหลุดออกจากระเบียบหลักของสังคม แต่ Subject มันจะสร้างตัวของมันเองขึ้นมาใหม่ ในฐานะที่ท่านเป็นสิ่งๆหนึ่ง ‘ที่ท่านอยากจะเป็น’ แม้ว่าร่างเนื้อของท่านจะยังคงสภาพตั้งต้นไว้อยู่ก็ตาม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ ใจความสำคัญมันอยู่ที่ตัวตนของท่าน และเพศสภาพของท่านได้เปลี่ยนและสามารถเปลี่ยนไปได้ตามที่ใจของท่านต้องการ เมื่อท่านมีความอยากที่จะเป็นผู้หญิง ตัวตนของท่านก็จะกลายเป็นผู้หญิง หรือหากท่านอยากเป็นผู้ชาย ตัวตนของท่านก็จะเป็นผู้ชาย แม้ร่างกายหรือร่างเนื้อดั้งเดิมของท่านจะไม่ใช่สิ่งที่ท่านอยากให้เป็นก็ตาม

เพราะฉะนั้นภารกิจของท่านจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การต่อสู้เพื่อให้ได้แต่งงานอย่างเท่าเทียม แต่ภารกิจต่อไปของท่าน (รวมถึงผู้คนที่มีความเห็นเป็นไปในแนวทางและกระแสเดียวกันนี้) ก็เห็นทีจะเป็นการลุกขึ้นมาต่อสู้และพยายามหาทางแก้ไข เปลี่ยนแปลงระบบการนิยามตีตราของสังคม การจัดลำดับช่วงชั้นของเพศสภาพภายในสังคม ที่มักจะเกิดการสร้างหมวดหมู่ กลุ่มก้อนระดับย่อย (Subcategorize) ที่ไม่เป็นธรรม ที่พยายามจะเข้ามาจัดเปลี่ยนให้ท่านกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมจากระบบ Heterosexual Metric อยู่ตลอดเวลา เช่นทุกวันนี้ให้ได้ โจทย์ใหญ่สำหรับสังคมไทย และสังคมโลกที่สำคัญต่อจากนี้ จึงจำเป็นต้องตกไปอยู่ในคำถามที่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะให้คนอื่นเลิกจัดให้ท่านกลายเป็น Subset ของอะไรบางอย่าง เลิกนิยามว่าท่านเป็นตุ๊ด กระเทย เกย์ ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ฯลฯ (หรือแม้แต่คำว่า ‘LGBTiQ’ ที่ยังคงถูกใช้เป็นจั่วหัวของบทความชิ้นนี้ ก็ควรที่จะยกเลิก) แล้วให้ท่านเป็นตัวของท่านเองอย่างที่ท่านเลือกจะเป็นโดยไม่มีระบบธรรมเนียมทางสังคม (Social Convention) ใดๆมาจัดแจงให้ท่าน การเสนอให้สังคมหลุดออกจากระบบ Binary Logic หรือ Heterosexual Metric อาจจะเป็นสิ่งที่ยากเข็ญ ในตอนนี้ และมีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ยากมากถึงมากที่สุด แต่อย่างน้อย ณ เวลานี้สิ่งที่พอจะรณรงค์หรือผลักดันได้ และมีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติจริงๆ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องของการพยายามต่อสู้เพื่อลบล้างการสร้าง Subcategory หรือ Subset ต่างๆที่พยายามเข้ามาจัดนิยาม ตีตราให้แก่ผู้ที่ไม่พอใจในเพศสภาพและร่างเนื้อในสภาพตั้งต้นทั้งหลายของตน เพื่อดึงให้พวกเขามีสถานะทางสังคมและทางเพศสภาพที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆทั่วไป โดยไม่ถูกจัดแยก แตกกิ่งออกไปให้เป็นส่วนย่อยของเพศใดเพศหนึ่งอีก[5]

 

หมายเหตุ : แก้ไขปรับปรุงจากโพสต์ใน Facebook ส่วนตัวของผู้เขียน วันที่ 23 และ 27 มิถุนายน 2558

บทความของปรีชภักดิ์ ทีคาสุข ชิ้นนี้ร่วมส่งมาในกิจกรรมปล่อยของหลังห้อง ซึ่งเป็นการนำผลงานของนักเรียนนักศึกษาเผยแพร่ให้สาธารณะได้ร่วมอ่านร่วมชม อ่านรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ ปล่อยของหลังห้อง




[1]  Emily Gray (2011) “What is Heteronormativity?”. Retrieved: 5 July 2015, Gender and Education Association: http://www.genderandeducation.com/issues/what-is-heteronormativity/.

[2]  Michael Curtis (1961). The Great Political Theories: A Comprehensive Selection of the Crucial Ideas in Political Philosophy from the Greeks to the Enlightenment. New York: Harper Perennial Modern Classics.

[3]  ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนเห็นว่า ภายในสังคมเรานั้นมีทั้งการตีตราในรูปแบบที่เกิดจากเจตนาและรูปแบบที่ไม่ได้มาจากเจตนาปะปนผสมกันไป

[4]  “อึ้ง! แบบเรียนเหยียดเพศที่สาม ผิดแต่ยังไม่แก้ แบบนี้ก็มีด้วย”. Retrieved: 4 July 2015, ASTVผู้จัดการรายวัน: http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9570000104691.

[5]  แต่อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือ ข้อเสนอเกี่ยวกับเพศสภาพของ LGBTiQ ณ เวลานี้กำลังจะถูกแบ่งออกเป็นทางแพร่ง 2 ชุดความคิด (Dilemma) โดยชุดแรกจะเป็นการเสนอว่าให้กลุ่มคนที่เป็น LGBTiQ นั้นพยายามลบล้างการสร้าง Subcategory หรือ Subset แล้วใช้ชีวิตในฐานะที่ตนเองเป็นเพศที่ตนเองอยากจะเป็น และเป็นมนุษย์เหมือนคนอื่นๆได้โดยไม่ถูกนิยาม หรือตีตราใดๆ ว่าเป็นเพศที่แปลกปลอมผ่านคำหรือภาษาต่างๆอีก ส่วนอีกชุดความคิดหนึ่ง คือ การจะให้ LGBTiQ ยอมรับและภาคภูมิใจในเพศสภาพที่แตกออกจากมาตรฐานหลักของสังคมเช่นทุกวันนี้ไป โดยหลุดและเป็นอิสระออกจากมาตรฐานการมองเพศสภาพแบบ Heterosexual Metric และสร้างให้มันเป็นอัตลักษณ์เด่นเฉพาะกลุ่มของตนเองไปเลย