Skip to main content

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2558 นักศึกษาชมรมสิงห์น้ำตาลอาสา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมลงพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน สภาพปัญหาผลกระทบ แนวทางแก้ไข รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต และลงพื้นที่สำรวจสภาพชุมชน
 
มัฌฌิมา นุกาศรัมย์ นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าให้ฟังว่า ถือเป็นประสบการณ์แรก จากที่เคยศึกษาอยู่ในเฉพาะห้องเรียนครั้นออกมาสัมผัสโดยตรง พบว่ายังมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นอยู่จริง เพราะปกติไม่คิดว่าจะมีการต่อสู้แบบนี้หลงเหลืออยู่ ทำให้รู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้บางครั้งก็ถูกละเลยจากสังคม หากไม่ใช่เป็นผู้ที่ประสบกับปัญหาด้วยตัวเอง ก็ไม่มีทางเข้าถึงปัญหาเหล่านี้ได้
 
มัฌฌิมา เผยความรู้สึกอีกว่า สิ่งที่ได้รับจากการลงพื้นที่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชีวิตของชาวบ้านที่เดือดร้อนโดยตรงนั้น มากมายเกินกว่าที่วาดหวังไว้ เปรียบเสมือนบทเรียนที่หาอ่านไม่ได้ในตำราเรียนเล่มใดในฐานะที่ตัวเองก็เป็นนักศึกษาที่ได้มีโอกาสได้เข้ามาเห็นและได้สัมผัสกับพื้นที่ที่เกิดปัญหาจริงๆ ก็มีความรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเป็นอย่างมากเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กลับคืนสู่ชุมชนเพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นปกติสุขขึ้นมาได้อีกครั้ง
 
“แม้ครั้งนี้นักศึกษาที่ได้ลงพื้นที่จะไม่สามารถช่วยอะไรชาวบ้านได้ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มาลงพื้นที่ครั้งนี้ อย่างน้อยก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้ามารับรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมเชื่อมั่นว่าความรู้สึกถึงอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องทั้งในเรื่องของสิทธิชุมชน และความชอบธรรมที่ได้รับครั้งนี้ กลายเป็นความอยากรู้ อยากเห็น ใคร่ติดตามในสิ่งที่เกิดขึ้น แม้อาจไม่สามารถช่วยอย่างไรได้มากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ได้เข้ามารับรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ได้คาดหวังว่าในอนาคตจะได้นำประสบการณ์จริงนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สุขต่อชาวบ้านได้บ้าง” มัฌฌิมาเผย
 
ด้าน ณัฐพล ขอยืมกลาง นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่า จากการได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับผลกระทบเรื่องที่ดินทำกินในหลายๆพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น ชุมชนบ่อแก้ว เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย จึงได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ทำให้เกิดความสนใจอยากลงมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกเหนือจากที่ได้เรียนมา พร้อมทั้งต้องการที่จะนำมาศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมว่า ปัญหา และความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แท้จริงเป็นอย่างไรสิ่งหนึ่งที่ได้พบคือ ภายหลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ขับไล่ออกไปและมาปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส นับปี 2521ผลกระทบเหล่านี้ ล้วนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก
 
ณัฐพล บอกอีกว่า แม้ชาวบ้านจะร่วมต่อสู้ เรียกร้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิที่ดินทำกิน พร้อมร่วมใจกันเข้ายึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมาในวันที่ 17 ก.ค.52และร่วมกันพลิกฟื้นทั้งชีวิตและผืนดินให้กลับคืนสู่สภาพความสมบูรณ์ด้วยการทำการปลูกพืชผักสวนครัวในรูปแบบเกษตรอินทรีย์แต่ปัญหาผลกระทบก็ยังคงติดตามมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่วงมาถึงวันที่ 25 ส.ค.57 ยังคงถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาปิดป้ายประกาศให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากพื้นที่แต่ชุมชนก็ยังคงเข้มแข็ง ยืนยันที่จะสู้ เพื่อสิทธิของชุมชน ต่างร่วมกันเดินทางยื่นหนังสือตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆให้หันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาให้อย่างถูกต้อง และเป็นธรรม โดยที่ไม่ให้ส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อชาวบ้าน
 
“แม้วันนี้ชาวบ้านบอกว่า จะลดความกังวลใจลงไปได้บ้างจากคำสั่งให้ชะลอ และยุติการดำเนินการใดๆที่จะทำให้ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนออกไปก่อนจนกว่าจะมีกระบวนการแก้ไข แต่ปัญหาที่สั่งสมมานาน จะถูกแก้ไขเพื่อความปกติสุขของชาวบ้านหรือไม่ ความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตจะคืนกลับมาดังเดิมได้อย่างไร ยังไม่มีใครสามารถยืนยันให้คำตอบได้ เหล่านี้ ล้วนทำให้พวกเรานักศึกษาได้รับฟังแล้ว ต่างเกิดความรู้สึกกังวลใจติดตามมาด้วย” ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย