Skip to main content

ข้อเขียนนี้เขียนขึ้นโดยยึดหลักการตามหนังสือ “แนวคิดพื้นฐานของประชาธิปไตย – รศ.วิสุทธิ์ โพธิแท่น” กอปรกับความรู้ตกผลึกจากหนังสือความรู้ทั่วไปในเชิงรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ที่เคยอ่าน โดยจะขอจำแนกหลักการสำคัญของประชาธิปไตยออกเป็น 7 ข้อตามความเข้าใจของผู้เขียน และยกขึ้นเปรียบเทียบกับสภาพการณ์ที่ปรากฏในสถานศึกษา ซึ่งมักกล่าวอ้างว่ามีการปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยให้กับนักเรียน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

1.หลักเคารพเสียงข้างมาก และคุ้มครองเสียงข้างน้อย ( Majority rule & Minority rights )

หลักการในข้อนี้ถือได้ว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะประชาธิปไตย (Democracy) นั้นมีความหมายในตัวเองว่าเป็น “อำนาจของปวงชน” คือถือมติมหาชนเป็นใหญ่ โดย 1 คนก็มีเพียง 1 เสียง ในข้อโต้เถียงขัดแย้งไม่ว่าประเด็นใดๆ ก็ตาม เมื่อเสียงข้างมากได้ลงความเห็นแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเสียงข้างน้อยที่จะต้องถือตามนั้น โดยเสียงข้างมากเองก็ต้องเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยด้วย หลักดังกล่าวนี้ได้พัฒนามาเป็น “การเลือกตั้ง” (Election), “การทำประชาพิจารณ์” (Public hearing) และ “การทำประชามติ” (Referendum) ในปัจจุบัน เพื่อเป็นการทำ “เสียงข้างมาก” ให้มีความชัดเจน อยู่ดีๆ ใครจะมาอ้างเสียงข้างมากลอยๆ เองไม่ได้

สำหรับในโรงเรียนต่างๆ เองก็มีการเลือกตั้งกรรมการนักเรียน หรือสภานักเรียนอยู่ด้วย แต่ก็เป็นที่น่าพิจารณาสืบไปอีกว่า การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการที่เป็นสากลหรือไม่ คือแม้การเลือกตั้งนั้นจะเป็นหน้าที่ แต่ก็จะไม่มีการเกณฑ์คนไปลงคะแนน ต้องให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้มีสิทธิ และที่สำคัญที่สุด “ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง” คือเหล่ากรรมการนักเรียน สามารถทำหน้าที่เป็นผู้แทนของนักเรียนได้อย่างเต็มที่ เสนอความคิดต่อผู้บริหารแทนนักเรียนทั้งหมดได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงวิธีก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อรอรับคำสั่งและแรงกดดันต่างๆ จากเบื้องบนเท่านั้น

2.หลักการแบ่งแยกอำนาจ ( Separation of powers )

หลักการข้อนี้มีขึ้นตามแนวคิดเรื่องการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and balance) เพื่อไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจในมือมากเกินจนกระทำตามอำเภอใจ ค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะตัวสำหรับการเมืองการปกครองในระดับรัฐ แต่หากจะยกขึ้นเปรียบเทียบกับภายในโรงเรียน ก็เป็นเรื่องน่าคิดอยู่ว่าเมื่อผู้บริหารต้องการจะตัดสินใจอะไรบางอย่างแล้ว ครู บุคลากร และนักเรียนสามารถทัดทานโต้แย้งได้บ้างหรือไม่

3.หลักปกครองโดยกฎหมาย ( The rule of law )

ในการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก จะถือหลักเสียงข้างมากอย่างเดียวไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นพวกมากลากไป ใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย สังคมจะวุ่นวายได้ ดังนั้นจึงต้องพัฒนากฎเกณฑ์ขึ้นมาบังคับใช้เพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อความยุติธรรม และเพื่อความมีประโยชน์สมประสงค์ (เจตนารมณ์ของกฎหมายตามแนวนิติศาสตร์ - มธ.) แต่กฎต่างๆ จะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามชอบมิได้ คือต้องบังคับเท่าที่จำเป็น ข้อใดเป็นเรื่องเฉพาะตัว เป็นสิทธิเด็ดขาดของบุคคล กฎหมายไม่สามารถเข้าไปจำกัดได้ ในโรงเรียนเองก็มีกฎระเบียบซึ่งน่าจะเทียบเคียงได้กับกฎหมายอาญา เพราะมีการกำหนดความผิดและโทษเอาไว้ แต่กฎเหล่านั้นมีความชอบธรรมในตัวมันเองหรือไม่ เขียนขึ้นมาบังคับใช้โดยความมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง คือนักเรียน หรือผู้แทนนักเรียนมีส่วนในการปรุงแต่งกฎเหล่านั้นตามหลักของประชาธิปไตยหรือเปล่า มีการจำกัดสิทธิบนเรือนร่าง (ทรงผม – การแต่งกาย) ซึ่งควรจะถือเป็นสิทธิเด็ดขาดของบุคคลมากเกินพอดีหรือเปล่า บางครั้งที่ครูลงโทษนักเรียน ความผิดเช่นนั้นมีเขียนเอาไว้ในระเบียบโรงเรียนแล้วหรือยัง สอดคล้องกับหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย - Nullum crimen nulla poena sine lege” หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา

4.หลักสิทธิเสรีภาพ ( Right & Liberty )

สิทธิ หมายถึงอำนาจอันชอบธรรม ซึ่งบุคคลทุกคนพึงมีพึงได้ โดยไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น และโดยเนื้อแท้แล้วเสรีภาพก็จัดได้ว่าเป็นประเภทหนึ่งของสิทธิ มีใครหลายๆ คนตัดพ้อกันจนผู้เขียนรู้สึกชินหูในทำนองว่า “สังคมเราทุกวันนี้ ผู้คนเรียกร้องกันแต่สิทธิ ไม่รู้จักหน้าที่เลย” ผู้เขียนเห็นว่าก็เป็นความจริง แต่ก็จริงเพียงบางส่วนเท่านั้น

อ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ (รัฐศาสตร์ - มธ.) เคยกล่าวไว้ทำนองว่า “ในสังคมประชาธิปไตย จะต้องเอียงไปทางเสรีภาพเสมอ” คือหลายคนมักคิดกันไปว่าจะมีสิทธิได้ต้องทำหน้าที่ก่อน แต่ความจริงแล้วมนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับสิทธิต่างๆ ซึ่งใครจะมาละเมิดมิได้ แต่พอมาอยู่รวมกันเป็นสังคมก็จำเป็นจะต้องสละสิทธิบางส่วน และยอมทำหน้าที่เพื่อความดำรงอยู่ของสังคมบ้าง (ทฤษฏีสัญญาประชาคม – Social Contract Theory) รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะต้องมีบทบัญญัติรับร้องสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน และคนทุกคนย่อมยกหลักสิทธิเสรีภาพนี้ขึ้นเป็นข้ออ้างยันแก่ผู้อื่นได้ ตราบเท่าที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น และไม่ละเมิดกฎหมายตามหลักในข้อ 3. ด้วย

ในทางกฎหมายปรากฏคำอธิบายว่า “เมื่อผู้ใดยกสิทธิของตนขึ้นต่อสู้ ก็เป็นหน้าที่ของอีกผู้อื่นที่จะต้องเคารพในสิทธินั้น” นั่นหมายความว่า “หน้าที่” จะปรากฏตัวพร้อมกับ “สิทธิ” เสมอ แต่ไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องกระทำเพื่อแลกมาซึ่งสิทธิ แต่เป็นหน้าที่ของบุคคลอื่นที่จะต้องเคารพในการอ้างสิทธิของปัจเจกบุคคล ท่านผู้อ่านอาจเคยได้ยินคำสอนทำนองนี้ภายในรั้วโรงเรียนกันมาบ้าง ผู้เขียนเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นการสอนโดยทึกทักเอาเอง หรือสอนโดยยึดหลักการที่ถูกต้องแล้วประการใด

5.หลักความเสมอภาค ( Equality )

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 บัญญัติไว้ในมาตรา 12 ว่า “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย..” เป็นบทรับรองความเสมอภาคของคนภายใต้กฎหมาย ไม่มีใครมีสูงส่งกว่าใคร แต่อาจเป็นข้อจำกัดประการหนึ่งในสังคมที่ถือระบบอาวุโส (Seniority) คือผู้น้อยอาจให้ความเคารพผู้ใหญ่ตามสมควรแก่กรณี ซึ่งเป็นการแสดงการเคารพตามประเพณีนิยมที่ทำได้ แต่ต้องไม่เป็นไปในลักษณะของความเป็นทาส (Slavery) หรือเรียกได้ว่าหลับหูหลับตาเคารพโดยไม่สนใจความถูกต้อง จนก่อให้เกิด “ระบบอุปถัมภ์” (Patronage system) ซึ่งสร้างปัญหามากมายในระบบราชการ และยังเป็นที่น่าสังเกตถึงการปฏิบัติต่อนักเรียนในห้องทุกคนโดยคณาจารย์ ว่าปฏิบัติต่อพวกเขาโดยเท่าเทียม ไม่เลือกที่รักมักที่ชังแล้วหรือยัง การช่วยงานของครูจะมีผลต่อคะแนนของนักเรียนหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิดอย่างยิ่ง

6.หลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ( Human dignity )

หลักข้อนี้มีอยู่เพื่อสนับสนุนหลักความเสมอภาค เพื่อรับรองความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ โดยไม่สนใจเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรืออายุ คือทุกคนต่างก็มีศักดิ์ศรีของตน ใครจะมาดูถูกไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของผู้อื่นที่จะต้องเคารพ ไม่ใช่เฉพาะเพียงผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ผู้ถือว่าตนอาบน้ำร้อนมาก่อนจะประพฤติตนเป็นผู้พูดอย่างเดียว โดยไม่รู้จักฟังผู้อายุน้อยกว่าบ้างก็ย่อมไม่ได้เช่นกัน

7.หลักภราดรภาพ และการเคารพเหตุผล ( Fraternity & Respect for reason )

สืบเนื่องจากหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภราดรภาพ (Fraternity) คือความเป็นพี่น้อง การปฏิบัติต่อกันดุจเป็นครอบครัวเดียวกัน มีความเคารพซึ่งกันและกัน และใช้หลักการเคารพเหตุผลในการดำเนินชีวิต คือต่างคนต่างต้องไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้อคติในการตัดสินปัญหา แต่ต้องรับฟังเหตุผลของอีกฝ่าย และเสนอเหตุผลของตนเพื่อหาข้อยุติที่เป็นธรรม หลักสำคัญของการเคารพเหตุผลคือต้องพิจารณาจากข้อมูลที่อีกฝ่ายนำเสนอ ไม่มีความจำเป็นจะต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้โต้แย้ง ไม่ว่าจะเป็นในแง่วัยวุฒิ หรือคุณวุฒิ คือไม่ต้องไปสนใจว่า “เขาคือใคร” แต่ควรสนว่า “เขาพูดอะไร” มากกว่า มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาตามมา เป็นการหลงคิดไปว่าเหตุผลของตนนั้นดีที่สุดแล้ว ผู้ที่มาคัดค้านนั้นเป็นเพียงผู้ซึ่งด้อยกว่าตน ไม่มีประสบการณ์หรือความรู้มากเช่นตน ตนไม่จำเป็นต้องเปิดใจรับฟังก็ได้

จากที่ผู้เขียนได้พรรณนาทั้งหมด ไม่ทราบว่าโรงเรียนของท่านจะยึดหลักการดังกล่าวมากน้อยเพียงใด แต่ขอให้ข้อสังเกตไว้ว่า แค่มีการเลือกตั้งกรรมการนักเรียนไม่ได้แปลว่าโรงเรียนมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ถึงกระนั้นการเลือกตั้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี และขาดไปจากระบอบประชาธิปไตยมิได้ ที่ต้องพัฒนาต่อไปให้บริบูรณ์คือหลักการอื่นๆ ดังที่กล่าวไว้หมดแล้วต่างหาก แม้ในการบริหารงานบางอย่างจะรอถามความเห็นจากทุกคนไม่ได้ แต่ก็ควรทำเท่าที่ทำได้ให้สุดความสามารถ เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้แก่เยาวชนของชาติ ให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในระบอบประชาธิปไตยต่อไปในอนาคต

-----

เผยแพร่ครั้งแรกใน กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท วันที่ 12 มิ.ย.2558 เฉลิมรัช จันทรานี, วิทยากรแกนนำประชาธิปไตยในสถานศึกษา ปี 2556  ศูนย์การเรียนรู้การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์