Skip to main content

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี วอนปล่อยตัวนศ.ม.นราฯ ปลุกประชาชนเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิฯ ยกเลิกอัยการศึกถอนทหารออกจากพื้นที่ปาตานี ขอองค์กรระหว่างประเทศช่วยสอบกรณีวิสามัญทุ่งยางแดง

3 เม.ย.2558 สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือ PerMas  ออกแถลงการณ์ต่อกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ปิดล้อม ตรวจค้น ควบคุมตัวเยาวชนนักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ซึ่งเป็นนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพจำนวน 22 คน เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา โดย PerMas เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาดังกล่าวทันที เรียกร้องให้ประชาชนเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมาน และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ปาตานี

นอกจากนี้ PerMas ยังออกแถลงการณ์ ต่อเหตุการณ์ ปิดล้อม จับกุม วิสามัญ เยาวชนนักศึกษาปาตานี  ที่อำเภอ.ทุ่งยางแดง (ทุ่งยางแดงโมเดล) จังหวัด.ปัตตานี  เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการวิสามัญ เยาวชน นักศึกษา จำนวน  4 นาย โดยขอให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว และขอให้รัฐไทยถอนทหารจากพื้นที่ปาตานีจนกว่าจะมีการลงโทษผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นำมาซึ่งการสูญเสียเยาวชนนักศึกษา 4 รายในครั้งนี้

แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
เรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและคุกคามเยาวชนนักศึกษา

เนื่องด้วยเหตุการณ์ปิดล้อม ตรวจค้น ควบคุมตัวเยาวชนนักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ซึ่งเป็นนักกิจกรรมเพื่อสันติภาพจำนวน 22 คน ในวันที่ 2 เมษายน 58 โดยใช้อำนาจกฎอัยการศึกในการปิดล้อม ตรวจค้นและควบคุมตัวในครั้งนี้ ซึ่งเหตุการณ์ปิดล้อม ตรวจค้นหอพักนักศึกษานักกิจกรรม ควบคุมตัวเยาวชนนักศึกษาเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานี ตามสถิติการปิดล้อม ตรวจค้น ควบคุมตัวโดยใช้กฎอัยการศึก พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากตลอดระยะเวลาสิบเอ็ดที่ผ่านมา ถึงแม้นว่าก่อนหน้านี้วันเดียว รัฐบาลไทยที่กรุงเทพได้ประกาศยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกฉบับ1/2557 ทั่วราชอาณจักร และออกคำสั่ง ใช้รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) มาตรา44 ท่ามกลางความเป็นห่วงกังวลของหลายๆฝ่าย แต่ก็น่าเจ็บปวดสำหรับชาวปาตานีที่ยังคงมี กฎอัยการศึกประกาศใช้ในปาตานีไม่ได้ถูกยกเลิกด้วย นำมาสู่การใช้อำนาจในการคุกคามเยาวชนนักศึกษาครั้งนี้

สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานีเป็นองค์กรทางการเมืองที่เคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพปาตานีโดยยึดหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากลขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.ขอให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาทั้งหมดโดยทันที หยุดคุกคามเยาวชนนักศึกษาและขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเฝ้าระวังเพื่อมิให้การละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนการซ้อมทรมานเกิดขึ้นอีก

2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยที่กรุงเทพยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในพื้นที่ปาตานีซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นจำนวนมากจากการใช้กฏอัยการศึก และถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่หล่อเลี้ยงไฟความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่มาโดยตลอด.

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย
สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
วันที่ 3 เมษายน 58

แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
เรื่อง การปิดล้อม จับกุม วิสามัญเยาวชนนักศึกษาปาตานี

เนื่องด้วยมาตรการปิดล้อมตรวจค้น จับกุม ในพื้นที่ปาตานี (หรือชายแดนใต้ของรัฐไทย) ในห้วงบรรยากาศรัฐบาลเผด็จการทหารเริ่มกลับมาสู่บรรยากาศตึงเครียดอีกครั้งเสมือนห้วงปี 49-50  มาตรการปิดล้อมปราบปรามยังคงมีใช้มาโดยตลอดในพื้นที่ปาตานี การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน  การละเมิดหลักมนุษยธรรมในยามสงคราม มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั้งล่าสุดเหตุการณ์ ปิดล้อม จับกุม วิสามัญ เยาวชนนักศึกษาปาตานี  ที่อำเภอ.ทุ่งยางแดง (ทุ่งยางแดงโมเดล)      จังหวัด.ปัตตานี  ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2558 มีการวิสามัญ เยาวชน นักศึกษา จำนวน  4 นาย  ได้แก่     1.นายสุไฮมี เซ็นและ อายุ 32 ปี 2.นายซัดดัม วานุ อายุ 24 ปี 3.นายคอลิต สาแม็ง อายุ 24 ปี และ4.นายมะดารี แมเราะ อายุ 23 ปี และมีการควบคุมตัวชาวบ้านอีก 22 ราย.

ซึ่งเหตุการณ์การปิดล้อม จับกุม วิสามัญเยาวชนนักศึกษามีมาโดยตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี  เหตุการณ์ในครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนในพื้นที่ปาตานี  กระนั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐไทยไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อาจเนื่องด้วยกฏอัยการศึกให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐจนเกิดวงจร การทำผิดโดยไม่ต้องรับผิด  ซึ่งได้กลายเงื่อนไขที่เติมไฟความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับประชาชนปาตานีมาโดยตลอด

ดังนั้นสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานีจึงขอเสนอแนะและเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวผลักดันเพื่อให้เกิดบรรยากาศประชาธิปไตยที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพดังนี้

1.     ขอให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีวิสามัญเยาวชนนักศึกษา 4 รายในกรณีทุ่งยางแดง เพื่อมิให้วงจรการไม่ต้องรับผิดเกิดขึ้นอีกในอนาคต

2.     ขอให้องค์กรระหว่างประเทศ ร่วมกันผลักดันให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกอันเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการกระทำโดยมิต้องรับผิดชอบ

3.     ขอให้รัฐไทยถอนทหารจากพื้นที่ปาตานีจนกว่าจะมีการลงโทษผู้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นำมาซึ่งการสูญเสียเยาวชนนักศึกษา 4 รายในครั้งนี้ หากมีการพิสูจน์เสร็จสิ้นรัฐบาลต้องออกมาขอโทษในกรณีที่ผู้ปฏิบัติการยัดเหยียดอาวุธเพื่อจัดฉากป้ายสีเยาวชนนักศึกษาและดำเนินการถอนทหารโดยเร็วที่สุด.

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย
สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี
วันที่ 3 เมษายน 58

สำหรับกรณีควบคุมตัวเยาวชนนักศึกษามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์นั้น เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Free Voice’ ระบุว่า เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. วันที่ 2 เม.ย. 58 เจ้าหน้าที่ ทำการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม บัณฑิตและนักศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสฯ เป็นจำนวนประมาณ 20 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวและเป็นครูอาสาสอนตาดีกาด้วย

โดย เจ้าหนาที่ ทำการปิดล้อม ตรวจค้น ทั้งหมด 4 จุด  จุดที่ 1. หอพักแถวยะกังเยี่ยงโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จุดที่ 2. หอพักนักศึกษาแถวกำปงตาโกะ จุดที่ 3. หอพักนักศึกษาแถววิทยาลัยสารพัดช่าง จุดที่ 4. หอพักนักศึกษาซอยนรากุล

ทั้งนี้การตรวจค้น หอพัก นศ.ชาย และ นศ.หญิง มีการตรวจ DNA ด้วย. โดยไม่แสดงหมายอะไรใดๆ โดยรายชื่อนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัว ประกอบด้วย 1.นายอาเซง กีลีมอ 2.นายบาฮากิม เจะแม 3.นายต่วนอาหาหมัด มะเจะ 4.นายมารูวัน บูลาบือเต 5.นายอัสรี สารอเอง 6.นายอิบรอเฮง อาบูดี 7.นายซูฟียัน ดอราแม 8.นายอิสมาแอ เจะโซะ 9.นายอับดุลเลาะ มะเดง 10.นายซาการียา สะมะแอ ส่วนรายชื่อบัณฑิตที่ถูกควบคุมตัว ประกอบด้วย 1.อุสมาน โอะยู 2.ไซดี ดอเลาะ 3.ตัรมีซี มะดากะ 4.รอซารี ยะโกะ 5.อาหมัด ยูโซะ 6.อัลบารี อาบะ 7.รีดวล สุหลง

Free Voice รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ยังไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว ว่านักศึกษาและบัณฑิตถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหน อย่างไร 

 

เรียบเรียงจาก : Wartani.com