เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 เวลา 12.30-16.00 น. ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีงานเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ค้ามนุษย์กับแรงงานต่างชาติ” จัดทำโดยมูลนิธิโครงการสะพานเสียงและ world vision
เริ่มต้นที่ตัวแทนจากแรงงานข้ามชาติจาก W.S.A ได้กล่าวถึงปัญหาต่างๆในการเข้ามาทำงานในประเทศได้แก่ โดนหลอกทำพาสปอร์ตปลอม การไม่รับผิดชอบของนายจ้างต่อแรงงาน นายจ้างทำร้าย ไม่จ่ายค่าจ้าง กดขี่ข่มเหง หลอกใช้งาน ข่มขืน
ต่อมาคุณกาญจนา ดีอุต จาก MAP foundation(Migrant Assistant Program) กล่าวแนะนำมูลนิธิ MAP ว่าเริ่มจาก การโยกย้ายเข้ามาทำงานของแรงงานจากประเทศพม่าแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น ทางตำรวจจึงติดต่อมาทางกลุ่มอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือแรงงานพม่าดังกล่าว จากนั้นก็เกิดการรวมตัวกันจัดตั้งมูลนิธิ MAP ขึ้น โดย MAP นั้นทำงานช่วยเหลือในด้านของสิทธิแรงงาน ซึ่งหลักๆคือ สิทธิแรงงาน สิทธิผู้หญิง สิทธิสุขภาพ สถานะบุคคล โครงการศึกษาสำหรับลูกของแรงงานข้ามชาติ โครงการสนับสนุนให้แรงงานรวมกลุ่มเพื่อให้มีอำนาจต่อรองต่อนายจ้าง และที่สำคัญที่สุดงานของ MAP คือการทำให้แรงงานรู้ถึงสิทธิของตนเอง จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ต่อมาคุณกาญจนากล่าวถึงกรณีที่เคยเกิด ที่มีแรงงานข้ามชาติถูกข่มขืนโดยนายจ้าง แต่เมื่อแรงงานคนนั้นได้รับข้อมูลว่ากฎหมายไทยคุ้มครอง เขาจึงรู้ว่าใช้กระบวนการยุติธรรมเรียกร้องความยุติธรรมให้ตนเองได้และการเรียกร้องความยุติธรรมนั้นสามารถสร้างบรรทัดฐานได้ อีกทั้งแรงงานข้ามชาติจะสามารถถูกกระทำอะไรก็ได้ สุดท้ายศาลพิพากษาคดีให้ผู้หญิงแรงงานข้ามชาตินั้นชนะคดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แรงงานข้ามชาติได้ทราบถึงความคุ้มครองจากประเทศไทย
คุณกาญจนากล่าวปิดท้ายว่าแรงงานข้ามชาติกับคนไทยอยู่ด้วยกันตลอดเวลา เหมือนอยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่ หากคนเราถ้าเอาเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ออกไป และมีเวลาคุยกัน เล่าเรื่องราวต่างๆให้แก่กันก็สามารถเข้าใจกันได้ แต่เพราะว่าอคติในเมืองไทยต่อแรงงานข้ามชาติ แล้วจะก้าวเข้าไปสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างไร
ลำดับต่อมา คุณศุภณัฐ อุทัยศรี จากมูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก (focus) กล่าว่า กฎหมายการค้ามนุษย์ในประเทศไทยแปลก ต้องถูกบังคับให้ไปทำงาน จึงจะถือว่าเป็นการค้ามนุษย์ ถ้าไม่มีการบังคับเกิดขึ้น อาจจะเป็นแค่การละเมิดสิทธิแรงงาน
จากนั้นกล่าวถึงแนะนำตัวเองเรื่องการทำงานส่วนตัวเกี่ยวกับการช่วยเหลือการค้ามนุษย์ ทว่าคิดว่าอยากทำงานที่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า เลยผันตัวมาทำงานเรื่องงานป้องกัน
ต่อมากล่าวว่าการค้ามนุษย์เปรียบเสมือนระบบทาสยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่เป็นทั้ง ต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง ในการส่งคนไปค้ามนุษย์ และตราบใดที่ระบบบริหารจัดการทุกๆเรื่องประเทศไทยยังไม่ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงาน ปัญหาการรับรองสิทธิแรงงาน เพราะตอนนี้เหยื่อการค้ามนุษย์หลักๆมี 4กลุ่มเท่าที่พบมา คือ กลุ่มแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย มักจะถูกละเมิดสิทธิก่อน ถูกหลอก และก็เข้าไปสู่การค้ามนุษย์ กลุ่มสองคือกลุ่มเด็กและเยาวชน มีความเสี่ยงที่จะโดนหลอกไปค้ามนุษย์ กลุ่มที่สามคือกลุ่มแรงงานไทย กลุ่มที่สี่คือกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เพราะว่าส่วนใหญ่ไม่มีสถานะประชาชนของรัฐ ไม่มีทะเบียน รัฐไม่คุ้มครอง กลุ่มนี้เลยตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
ในช่วงสุดท้ายวิทยากรและผู้เข้าร่วมฟังเสวนาได้ร่วมกันคิดแนวโน้มและแนวทางการแก้ไข้ปัญหาหลายประการ ได้แก่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน เชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันจับตามอง ไปจนถึงแก้ปัญหาที่สิทธิ นโยบาย
- 3 views