เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 เวลา16.30-18.30 โครงการศิลป์เสวนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ทัณฑะกาล” ของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังการเมือง โดยมี อ.ดร.วิลลา วิลัยทอง จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บรรยาย และ ผศ.ดร.วิศรุต พึ่งสุนทร เป็นผู้ดำเนินรายการ
วิลลาเล่าถึงที่มาของหนังสือ ทัณฑะกาลของจิตร ภูมิศักดิ์และผู้ต้องขังการเมืองว่ามีที่มาจากการเสนอบทความของตนเองในชื่อเรื่อง “ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน : การใช้ชีวิตประจำวันของจิตร ภูมิศักดิ์และนักโทษการเมืองในคุกช่วงทศวรรษ 2500” จนนำไปสู่การพัฒนาต่อมาเป็นหนังสือเล่มดังกล่าว คำว่าทัณฑะกาลนั้นไม่ได้ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์แต่ทัณฑะกาลเป็นคำที่ รต.เหรียญ ศรีจันทร์ และรต.เนตร พูนวิวัฒน์ ใช้เขียนไว้ในบันทึกความทรงจำระหว่างถูกคุมขังในข้อหากบฏ นักประวัติศาสตร์จึงเกิดแรงบันดาลใจนำคำว่าทัณฑะกาลมาวิเคราะห์ ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการจับกุมผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์จำนวนมาก และเป็นการคุมขังโดยไร้กำหนดซึ่งถือเป็นทัณฑะกาลที่คุมขังพวกเขาเหล่านี้ไว้
เมื่อแรกถูกคุมขัง แม้ว่าพวกเขาจะถูกตัดขาดออกจากโลกภายนอก แต่โลกภายนอกนั้นย้ายเข้าไปอยู่กับพวกเขา ภายในที่คุมขังนั้นมีการแบ่งเวลาออกเป็น 3 รูปแบบ 1)เวลาทางการ คือเวลาที่ถูกกำหนดจากทางการ เช่น เวลาคุมขัง เวลาเปิดปิดทัณฑะกาล เวลาเข้าเยี่ยม 2)เวลาส่วนรวม คือเวลาที่ทำกิจกรรมร่วมกันซึ่งกำหนดโดยผู้ถูกคุมขัง เช่น เวลาทำสวน เวลาทำอาหาร 3)เวลาของผู้คุมขัง ซึ่งใช้ไปตามภูมิหลังของผู้ถูกคุมขัง เช่น เวลาอ่านหนังสือ การแบ่งเวลาเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาใช้เวลาร่วมกันทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ภายในของผู้ถูกคุมขังได้เป็นอย่างดี
วิลลากล่าวถึงแนวคิดของคุกสมัยใหม่ที่เริ่มเกิดขึ้น คือเมื่อจับผู้ทำผิดได้ไม่จำเป็นต้องลงโทษทางกายอีกต่อไป (เช่นโบยตี) แต่ในคุกสมัยใหม่เป็นการจำกัดพื้นที่ของนักโทษ เพื่อให้พื้นที่เล็กๆนั้นทำให้ผู้ทำผิดได้สำนึกความผิด จึงเป็นที่มาของการเกิดทัณฑะกาล ซึ่งทัณฑะกาลนั้นมีขึ้นเพื่อขังนักโทษทางการเมืองโดยเฉพาะ อาจจะด้วยเพราะรัฐบาลกลัวว่าถ้าขังรวมกับนักโทษทั่วๆไป คนเหล่านี้จะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ภายหลังจากที่นักโทษเริ่มมากขึ้นเพราะมีการจับกุมหลายระลอกทำให้รัฐบาลต้องขยายคุกออกไปนอกเมือง ท้ายที่สุดจิตรก็ถูกย้ายไปลาดยาว แม้ว่าก่อนจะย้ายมีการเจรจาต่อรองกันแต่สุดท้ายก็ต้องย้ายไปในปี 2503 ในลาดยาวนี้เองที่เป็นพื้นที่ของการต่อสู้ เจรจาประนีประนอม ที่ลาดยาวผู้ต้องขังสามารถเลือกเสื้อผ้าที่จะใส่ได้ ปลูกผัก เลี้ยงปลา เล่นกีฬา ดนตรีไทยและสากล เวลาไปขึ้นศาลก็จะใส่ชุดสุภาพ แต่เมื่อย้ายไปอยู่ลาดยาวร่างกายของปัญญาชนเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป ปกติปัญญาชนจะไม่มีกล้าม แต่เมื่อย้ายไปอยู่ลาดยาวพวกเขามีกล้ามและผิวคล้ำลงจากการทำสวน สะท้อนให้เห็นจุดยืนว่าพวกเขาทำงานเพื่อรับใช้ชาวนาและคนซึ่งเป็นสิ่งที่ปัญญาชนควรทำ มีการผลิตความรู้ในทัณฑะกาล ซึ่งเกิดจากการเขียนแลกเปลี่ยนกัน
ลาดยาวกลายเป็นพื้นที่ในการบ่มเพาะอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เช่น ในโรงอาหารมีการใช้พื้นที่โรงอาหารก่อตั้งกลุ่มคิวบา คิวบามีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองกับรัฐ คิวบาคัดค้านการควบคุมบางอย่างของผู้ต้องขัง เช่น การร้องขอสิทธิ์ในการอ่านหนังสือพิมพ์ของผู้ต้องขัง ลาดยาวกลายเป็นพื้นที่กลับหัวกลับหางท้าทายอำนาจของรัฐ เช่น จัดละครการเมือง ดื่มเหล้า อีกทั้งคิวบายังจัดรำลึกถึงการตายของคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ งานเฉลิมฉลองต่างๆในลาดยาวเป็นการแสดงสัญลักษณ์ที่คัดค้านเผด็จการทหารและสนับสนุนประชาชน เราจะเห็นว่าลาดยาวไม่ได้ทำให้ผู้ถูกคุมขังเชื่อง แต่กลายเป็นว่าพวกเขากำหนดโลกแห่งการศึกษาและกำหนดการใช้ชีวิตในทัณฑะกาลด้วยตัวเอง เมื่อออกมาพวกเขาจึงหันหลังให้รัฐและถือปืนเข้าป่า (ตามคำพูดของอ.เกษียร เตชะพีระ)
ผู้ต้องขังถูกจับขึ้นศาลทหารซึ่งจำเลยไม่สามารถตั้งทนายแก้ต่างได้ ผู้ต้องขังจึงได้เรียกร้องว่าพวกเขาควรขึ้นศาลพลเรือนไม่ใช่ศาลทหารเพราะเมื่อมีธรรมนูญการปกครองแล้ว ประกาศของคณะรัฐประหารก็ควรเป็นโมฆะไป แต่ผลการตัดสินของทั้งศาลทหารและศาลพลเรือนก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เนื่องด้วยศาลพลเรือนก็ยังบอกว่าประกาศคณะรัฐประหารยังคงใช้อยู่ สะท้อนให้เห็นว่าอย่างไรพวกเขาก็ตกอยู่ภายใต้ศาลทหาร แม้ว่าสุดท้ายพวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวแต่ก็ไม่อาจระบุสาเหตุของการปล่อยตัวได้แน่ชัดว่าเกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของผู้ต้องขังหรือเกิดจากการเปลี่ยนรัฐบาล เมื่อปล่อยตัวผู้ต้องขังก็กลับสู่โลกของตัวเอง กลับสู่อาชีพเดิมหรือบางคนเริ่มอาชีพใหม่ ในขณะที่บางคนตัดสินใจเข้าป่า เช่น จิตร ภูมิศักดิ์ ทัณฑะกาลนั้นส่งผลถึงจิตใจของกหลายคน พวกเขายังต้องปรับตัวกับครอบครัวและสังคม หรือบางคนก็ไม่ได้อยู่รอดจนปล่อยตัวเนื่องจากตายในลาดยาว
“ภายใต้พื้นที่ที่จำกัดเหล่านี้ มันก็ยังมีอิสรภาพที่ผู้ต้องขังพยายามเรียกร้อง แต่ก็คงไม่มีใครอยากเข้าไปอยู่ในทัณฑะกาล”
อ.ดร.วิลลา วิลัยทอง ภาพจากเพจศิลป์เสวนา
สุดท้าย วิศรุตได้กล่าวว่า คุกในยุคของจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้น่ากลัวในความรุนแรงโหดร้าย แต่เป็นความไร้เหตุผลคือใครก็โดนจับได้ สภาวะแบบนี้น่ากลัวกว่าการรู้ว่าทำผิดอะไรจึงถูกจับ แม้จะสามารถต่อรองได้แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปจะส่งผลอย่างไร
- 11 views