Skip to main content

มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้(13 มี.ค.)เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน นายคมสัน โพธิ์คง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะทำงานการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบของผู้ตรวจการแผ่นดิน และนางอุทุมพร จามรมาน ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมแถลงถึงข้อเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปการศึกษา 13 ฉบับ ต่อคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยนายศรีราชา กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ความสำคัญต่อการศึกษาของประเทศ มานานแล้ว เพราะเห็นว่าปัญหาของประเทศอยู่ที่การศึกษา และเป็นเรื่องความเป็นความตายในอนาคต หากเราไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาให้เข้มข้นสมบูรณ์ เป็นรูปธรรม เพราะการศึกษาเป็นปัญหาที่รุนแรง ถ้าไม่ทำเราก็จะตกโลกและอยู่อันดับท้ายๆของประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เราต้องแก้ปัญหาระบบการศึกษาของประเทศไทย โดยต้องให้วงการศึกษาไทยมีความก้าวหน้าในระดับชาติ ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาใหม่ ถ้าจะให้กระทรวงศึกษาธิการปฏิรูปตัวเองคงไม่ได้ เพราะว่ามีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการไม่เคยพัฒนาการศึกษามีแต่สร้างปัญหา ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงตั้งคณะทำงานเพื่อร่างข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากตามกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินให้อำนาจในการหยิบยกประเด็นที่กระทบต่อสังคมมาพิจารณาได้

นายศรีราชา กล่าวต่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอร่างกฎหมายที่ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจ การจัดการเรียนการสอน และตัวบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ 12 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยมีการตั้งคณะทำงานการศึกษาชาติทั้งระบบ (ซุปเปอร์บอร์ด) เพื่อกำหนดทิศทางที่จะเปลี่ยนแปลงการศึกษาโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆกำหนดนโยบายต่างๆแทนกระทรวงศึกษาธิการ พ.ร.บ.การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา พ.ศ. ... ซึ่งสามารถจัดหลักสูตรการเรียนการสอนของการศึกษาทุกระดับ พ.ร.บ.สถาบันครูศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ... พ.ร.บ.การจัดการและบริหารการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... โดยกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยัง อปท. อย่างเต็มรูปแบบ เป็นต้น นอกจากนี้จะเสนอร่าง พ.ร.บ. อีก 1 ฉบับ รวมเป็น 13 ฉบับเพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพ

ด้านนายคมสัน กล่าวว่า การร่างข้อเสนอดังกล่าวเพื่อที่จะลดอำนาจทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการมีการแทรกแซงทางการเมือง มีระบบอุปถัมภ์ โดยนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์จากการศึกษา เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง หรือการใช้งบประมาณต่างๆ เพราะแต่ละปีกระทรวงศึกษาธิการได้งบประมาณมาจำนวนมากแต่เอาเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ตัดการเมืองทิ้งไปเพราะมีการเชื่อมโยงกับการศึกษาอยู่ อย่างไรก็ตามระบบการศึกษาในอนาคตต้องเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และต้องปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย