Skip to main content

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี การก่อตั้งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 ทางคณะจึงได้จัดเสวนาวิชาการกับสาธารณะ โดยในช่วงบ่ายมีกิจกรรมเสวนาโดยการนำเสนอผลงานบางส่วนของนักศึกษา ซึ่งเป็นผลงานการศึกษารายบุคคลของนักศึกษาปริญญาตรีเกี่ยวกับประเด็นต่างๆทางสังคม โดยมีการนำเสนอผลงานทั้งหมด 5 ชิ้น ซึ่งมีรายละเอียดโดยรวมดังนี้

ผู้ชายกลัวเมีย โดย ผกามาศ เลียงธนะฤกษ์

เมื่อกล่าวถึงคำว่าผู้ชายกลัวเมีย สังคมไทยต่างมีภาพเหมารวม คือ บุคคลที่มีเพศสรีระเป็นชาย อยู่ภายใต้สถาบันครอบครัวและได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสามี มีลักษณะที่จำนนต่ออำนาจของภรรยา ไม่ได้แสดงบทบาทความเป็นชาย เช่น เป็นผู้นำ ช้างเท้าหน้าของครอบครัว และมีอำนาจในการตัดสินใจ ตามที่สังคมได้คาดหวังไว้ อีกทั้งยอมให้ภรรยาเป็นผู้มีบทบาทนำในการตัดสินใจ และกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

พี่หมีเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างงานศึกษาเรื่องผู้ชายกลัวเมีย เขาเป็นชายหนุ่มขี้อาย มีหน้าที่การงานดีอยู่ถึงขั้น “ระดับผู้บริหาร” แต่ก่อนหน้าเขาจะแต่งงานเขาไม่เคยมีแฟนหรือคบใครสักคนเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชอบทำงานมากอย่างเดียว อย่างไรก็ตามที่ทำงานมีแต่คนชมและชื่นชอบเขา เพราะเขาเป็นหนุ่มโสด เก่ง และเป็นคนที่ให้เกียรติคน ไม่ว่าจะอยู่กับผู้ใหญ่ เพื่อนหรือรุ่นน้อง ซึ่งพี่หมีเป็นคนที่เทคแคร์มากกว่าที่คนอื่นคาดหวังอยู่เสมอ เช่น “ขอ 1 ได้ 3”  ทัศนคติของพี่หมีรวมถึงการกระทำของเขานี้เองจึงทำให้สามารถกล่าวได้ว่าเขาคือ “สุภาพบุรุษยุคใหม่ ในคราบผู้ชายกลัวเมีย”

 

โรงเรียนผู้สูงอายุ โดย ภัทรา ศิริ

โรงเรียนผู้สูงอายุต่างจากโรงเรียนของเด็กตรงที่โรงเรียนของเด็กเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่พวกเขาไม่เคยรู้เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่เปี่ยมพร้อมด้วยประสบการณ์ ผ่านการเรียนรู้ ผ่านเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต การเรียนของผู้สูงอายุจึงมิใช่เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งการเรียนรู้/ทบทวนสิ่งเก่าเพื่อกระตุ้นความทรงจำ และมีความสุขหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากทำงานมามากในวัยหนุ่มสาวคณะคุณครูจึงไม่ได้เคร่งครัดเรื่องเนื้อหาวิชาเรียนและกฎระเบียบในห้องเรียนมากนัก เพราะอาจทำให้ผู้สูงอายุน้อยใจและเกิดความเครียดจนไม่มาเข้าเรียนในครั้งต่อไป หากต้องมีการตักเตือน เช่น เวลานักเรียนผู้สูงอายุคุยกันระหว่างการเรียน คุณครูจะต้องเตือนแบบมีอารมณ์ขัน เช่น “ได้ข่าวมาว่าทางโรงเรียนจะพาไปเที่ยว แต่ไม่รู้ว่าจะมีใครอยากไปหรือเปล่านะ” เพื่อให้นักเรียนหยุดคุยกัน

เพื่อให้การเรียนการสอนน่าสนใจน่าจดจำ ครูจะต้องปรับเนื้อหาให้เข้ากับบริบทสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น มีการให้ความรู้เรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่าคืออะไร รวมทั้งมีการทำกิจกรรมแต่งกายชุดประจำชาติอาเซียนด้วย อุ้ยนา หนึ่งในนักเรียนจึงได้แสดงความคิดเห็นว่า “นักเรียนก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดกับครูได้ เช่นครูอาจจะรู้ในสิ่งที่นักเรียนไม่รู้ และนักเรียนอาจจะรู้ในสิ่งที่ครูไม่รู้ก็ได้ เปรียบเสมือนการเติมเต็มซึ่งกันและกันนะ”  อีกทั้งทางโรงเรียนยังมีการจัดให้นักเรียนได้ไปทัศนศึกษาดูงานนอกสถานที่ ให้นักเรียนได้พบสิ่งแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างจากวิถีชีวิตประจำวัน ตามปกติผู้สูงอายุมักจะไม่ชอบเดินทางไกลที่ต้องใช้เวลานานๆ เพราะจะเกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่อาการปวดเมื่อยนี้จะน้อยลง เพราะความสนุกสนานและตื่นเต้นที่ได้จากการได้ไปเที่ยวกับเพื่อนวัยเดียวกัน ที่เรียนห้องเดียวกัน

 

ผู้ช่วยพยาบาล: งานที่ถูกมองให้ไม่เห็น โดย หัทยา รัตนานนท์

เมื่อกล่าวถึงโรงพยาบาล คนทั่วไปมักนึกถึงแพย์และพยาบาล อาจจะนึกถึงเจ้าหน้าที่ lab และเจ้าหน้าที่บริหาร แต่มักไม่ค่อยมีใครนึกถึงผู้ช่วยพยาบาล เพราะคนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับความสามารถในการวินิจฉัยโรคของแพทย์เป็นหลัก มองข้ามงานหลักอีกครึ่งหนึ่งของโรงพยาบาล นั่นก็คือการดูแลผู้ป่วย นี่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยและญาติมองไม่เห็นความสำคัญของผู้ช่วยพยาบาล เพราะคิดว่าเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้หรือทักษะด้านการรักษาโรคให้ผู้ป่วย เนื่องจากผู้ช่วยพยาบาลไม่มีสิทธิที่จะสามารถรักษาโรคให้กับผู้ป่วยได้ เป็นเพียงแค่การดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นเพียงเท่านั้น

ผู้ช่วยพยาบาลเป็นงานที่ใช้แรงกายมาก ถูกกำกับด้วยตารางเวลาที่เคร่งครัด แต่ได้รับเงินเดือนน้อยกว่าพยาบาล เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เงินเดือนขั้นต่ำของผู้ช่วยพยาบาลประมาณ 9000 บาท ส่วนเงินเดือนขั้นต่ำพยาบาลประมาณ 15000 บาท ซึ่งเป็นการให้เงินเดือนตามวุมิการศึกษา ผู้ช่วยพยาบาลหลายคนมองว่างานของพวกเธอไม่ใช่แค่อาชีพ “แต่เหมือนกับการดูแลญาติผู้ใหญ่” เพราะต้องช่วยเหลือคน ทั้งด้วยแรงกายและเวลาที่ “แม้แต่ญาติของคนไข้ก็ยากที่จะดูแลแบบนี้เป็นเวลานานๆ”

 

งานและบ้านเกิดของแรงงาน “พม่า” โดย จิตชนก ไกรวาส

น้ำ แม่บ้านจากจังหวัดตะโทนประเทศพม่าให้ความเห็นเกี่ยวกับอาหารที่เธอแนะนำให้ผู้ศึกษาได้ลองชิมรสชาติ ในระหว่างการเที่ยวชมตลาดบางบอน ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ตลาดพม่า” ในท่ามกลางผู้คนจากพม่า ประกอบกับเป็นบรรยากาศที่สัมผัสได้ถึงความเป็นบ้านเกิดที่ผู้มาเดินตลาดคุ้นเคย และชวนให้ผู้คนจากประเทศพม่าที่มาทำงานในประเทศไทย หวนคิดถึงหรือระลึกถึงรสชาติอาหารอันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นบ้านเกิดในความทรงจำของพวกเขา ขณะเดียวกันการได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุของความทรงจำ และความคิดถึงบ้านเกิดผ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับข้าวของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกาย รสชาติของอาหาร ฯลฯ ก็สะท้อนให้เห็นความระลึกถึงครอบครัว ถิ่นกำเนิด แม้อาจจะไม่ได้เอ่ยคำว่า “คิดถึง” เลยก็ตาม

 

การมาของ “แจ๊ค” โดย รัชพล แย้มกลีบ

แจ๊คเป็นลิงที่อพยพเข้ามาจากในเขตเมืองเก่า ซึ่งเป็นเขตชุมชนที่มีลิงอาศัยหนาแน่นอยู่แล้วตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในชุมชนเขตเมืองเก่าซึ่งเป็นบ้านเดิมที่แจ็คเคยอาศัยอยู่เป็นชุมชนที่ชาวบ้านมักมีความสนิทสนมกับลิง จนอาจพัฒนาความสัมพันธ์จนลิงกลายเป็นสัตว์เลี้ยง (ในเชิงการให้อาหาร หรือดูแลรักษาพยาบาล ไม่ใช่ในเชิงการจับลิงมาเป็นสมบัติของตนเอง) เนื่องจากชุมชนเขตเมืองเก่าเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีลิงอาศัยอยู่ตั้งแต่อดีต การมีลิงอยู่ในชุมชนเป็นเรื่องปกติ สามารถพบเห็นได้จนชนตา ชาวบ้าน ลิง นักท่องเที่ยว สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข อาจมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับลิงเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตนัก แต่ปัญหาใหญ่สำหรับแจ๊คและผองเพื่อนคือปัญหาความขาดแคลนด้านอาหารและการขยายจำนวนของประชากรลิง ทำให้แจ๊คและเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งต่างพากันอพยพมายังชุมชนวงเวียนสระแก้ว ซึ่งเป็นชุมชนที่มีอาหารและประชากรลิงไม่แออัดนัก ชุมชนวงเวียนสระแก้วเป็นชุมชนที่มีตลาด เมื่อมีตลาดก็เท่ากับว่ามีแหล่งอาหารชั้นยอดไว้รองรับแจ๊คและผองเพื่อน

ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับแจ๊คในชุมชนใหม่ แตกต่างจากชุมชนเดิมที่แจ๊คเคยอยู่ ในชุมชนนี้แจ๊คและลิงตัวอื่นแทบจะไม่มีโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์จนกลายเป็นสัตว์เลี้ยงได้เลย เนื่องจากชุมชนนี้เป็นชุมชนที่เพิ่งมีการอพยพเข้ามาอาศัยของลิง แจ๊คและลิงตัวอื่นเป็นเสมือนสิ่งที่ไม่ปกติในชุมชน ชาวบ้านคิดว่าลิงเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ และหน่วยงานรัฐก็ตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน ทำให้แจ๊คและลิงที่อพยพเข้ามาในชุมชนนี้ เหมือนสิ่งที่ผ่านเข้ามา แล้วก็ต้องผ่านออกไป ในสักวันหนึ่ง

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการนำเสนอผลงานของนักศึกษา ซึ่งการเปิดพื้นที่ดังกล่าวให้ได้นำเสนอผลงานนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการสร้างกรอบคิดที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น และมองสิ่งต่างๆด้วยสายตาที่แหลมคมมากยิ่งขึ้น