“เมื่อความรุนแรงทางเพศจำนวนมากเกี่ยวเนื่องกับด้านหนึ่งของชีวิตนักศึกษาขนาดนี้ มาตรการบางอย่างเป็นสิ่งที่จำเป็น”
หมายเหตุ: แปลมาจาก บทความ “Frat brothers rape 300% more. One in 5 women is sexually assaulted on campus. Should we ban frats?” โดย Jessica Valenti ปรากฏในหนังสือพิมพ์ The Guardian ในวันที่ 24 กันยายน 2557 (http://www.theguardian.com/commentisfree/2014/sep/24/rape-sexual-assault-ban-frats)
ในท่ามกลางกระแสประเด็นปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศ และปัญหาวัฒนธรรมการรับน้องในประเทศไทย คนไทยมักมีทัศนคติว่า สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture) และวัฒนธรรมการรับน้อง เป็นสิ่งที่ผูกโยงกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ ดังที่ปรากฏในบทความของเจสสิก้า วาเลนติ (Jessica Valenti) ในหนังสือพิมพ์ The Guardian ดังนี้
ในช่วงที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยทูเลน นักศึกษาหญิงมักได้รับคำเตือนเกี่ยวกับบ้านรับน้องชาย ที่ “ไม่ดี” เช่น พวกที่เริ่มการปาร์ตี้ด้วยเอเวอร์เคลียร์ (แอลกอฮอล 95% ที่ผิดกฎหมายใน 13 มลรัฐในสหรัฐฯ) หรือบางกรณีก็เป็นยาเสพติด กล่าวคือ แฟรทที่ทำให้ผู้หญิงถูกทำร้าย ในช่วงสัปดาห์แรกของการศึกษาของข้าพเจ้าเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ข่าวลือว่านักศึกษาหญิงที่อยู่ชั้นเดียวกับข้าพเจ้า ถูกผู้ชายหลายคนข่มขืนในปาร์ตี้บ้านรับน้องได้แพร่หลาย ประเด็นเหล่านี้ถูกกล่าวถึงด้วยความเมินเฉยในระดับหนึ่ง ราวกับว่าการมีผู้ข่มขืนอย่างน้อยหนึ่งคน เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตบ้านรับน้องชาย
ณ ตอนนี้ ก็มิได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก
ตำรวจมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลเวากี้ กำลังสอบสวนบ้านรับน้องชายหลังหนึ่ง หลังจากที่ผู้หญิงหลายคนถูกเขียนเครื่องหมาย X สีดำและสีแดงบนมือ หลังจากที่พวกเธอต้องถูกส่งโรงพยาบาลด้วยการขาดความจำเนื่องจากการมึนเมาในปาร์ตี้ที่จัดโดยบ้านรับน้องนั้น ในปีที่แล้ว ได้มีการฟ้องร้องว่ามีการข่มขืนในบ้านรับน้องชายหนึ่งในมหาวิทยาลัยเท็กซัส (Texas) เป็นจำนวนสามครั้ง ภายในหนึ่งเดือน ที่สถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย ได้มีสมาชิกสมาคมพี่น้องคนหนึ่ง ส่งคู่มือทางอีเมล์ที่มีชื่อว่า “Luring your rapebait (วิธีการล่อลวงเหยื่อข่มขืนของคุณ)” ส่วนมหาวิทยาลัยเวสเลยัน มีบ้านรับน้องชายที่มีชื่อเล่นว่าเป็น “Rape Factory (โรงงานการข่มขืน)” และในปี 2010 ได้มีสมาชิกบ้านรับน้องชายในมหาวิทยาลัยเยล ที่เดินขบวนในมหาวิทยาลัยพร้อมตะโกนว่า “No means yes, yes means anal (ไม่แปลว่าเอา เอาแปลว่าทางทวาร)”
สิ่งเหล่านี้มิได้เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกแยก หรือว่าตัวอย่างที่ไม่ดีแต่อย่างใด การวิจัยจำนวนมากได้ค้นพบว่าผู้ชายที่เข้าร่วมบ้านรับน้องชายนั้น มีโอกาสก่อคดีข่มขืนมากกว่าเป็นสามเท่า ผู้หญิงในบ้านรับน้องหญิง (sorority**) มีโอกาสถูกข่มขืนมากกว่านักศึกษาหญิงอื่น 74% และผู้หญิง 1 ใน 5 คนมีโอกาสถูกข่มขืนระหว่าง 4 ปีที่ห่างมาจากบ้านเพื่อการศึกษา คำถามที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือ เรามีความพยายามที่หลากหลายที่ลดปัญหาความรุนแรงทางเพศ ทั้งโดยทำเนียบขาวและเมืองมหาวิทยาลัย เช่น การใช้ “Yes means yes (เอา แปลว่าเอา)” เป็นมาตรฐานของการสมยอม การบังคับให้ผู้บริหารรับผิดชอบ หรือการให้คนรอบข้างช่วยเหลือแล้ว ทำไมเราถึงไม่ได้คิดถึงวิธีแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนที่สุด?
ถึงเวลาแล้วที่จะคุยกันเรื่องการยกเลิกบ้านรับน้องชาย
เมื่อศาสตราจารย์สังคมวิทยาเอลิซาเบธ อาร์มสตรอง (Elizabeth Armstrong) และลอร่า ฮามิลตัน (Laura Hamilton) ได้ทำการวิจัยชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นเวลา 5 ปี โดยใช้ชีวิตร่วมกับนักศึกษา พร้อมกับติดตามและสัมภาษณ์พวกเขาในหอพักในมหาวิทยาลัยของรัฐแถบตะวันตกกลาง ที่ไม่เอ่ยชื่อนั้น พวกเธอได้รายงานว่านักศึกษาหญิงที่อยู่ชั้นเดียวกับพวกเธอถูกข่มขืนในปาร์ตี้ของบ้านรับน้องชาย ในช่วงสัปดาห์แรกๆของปีการศึกษา
อาร์มสตรอง ซึ่งได้ทำให้การวิจัยของตนกลายมาเป็นหนังสือขายดีเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมในมหาวิทยาลัย และงานเขียนเกี่ยวกับความคุกคามทางเพศ กล่าวกับข้าพเจ้าว่า โครงการต่อต้านความรุนแรงทางเพศนั้นทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่ว่าอาจทำได้อย่างไม่เพียงพอ
เธอได้กล่าวว่า “ดิฉันอยู่ที่มหาวิทยาลัยมาสซาชูเซท และเวสเลยัน แล้วพวกเขาก็คุยกันเรื่องโครงการการเข้าแทรกแทรงของคนรอบข้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ทุกคนควรจะมีส่วนร่วม” จากนั้นเธอก็กล่าวต่อว่า “แต่สิ่งที่ไม่มีการพูดถึง คือตัวองค์กรที่ทำให้คนต้องอยู่ในความเสี่ยงในมหาวิทยาลัย”
อาร์มสตรองได้ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ยินจากการเยี่ยมมหาวิทยาลัยด้วยตัวเอง กล่าวคือ บ้านรับน้องชาย เป็นแหล่งของความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบนอกจากการคุกคามทางเพศ เช่น การติดสุรา แอลกอฮอล์เป็นพิษ คนหล่นลงมาทางหน้าต่าง และการกลั่นแกล้งที่อันตราย เธอยืนกรานว่าสมาคมเหล่านี้มี “ความแตกต่างอย่างมาก” ในด้านความอันตรายทางเพศ กล่าวคือ สมาคมของคนผิวดำ สมาคมที่มีการยอมรับทางเพศสภาวะ และสมาคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จะไม่อันตรายเท่าสมาคมที่เต็มไปด้วยคนผิวขาวที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ดี เป็นต้น แต่เมื่อเรามองความเสี่ยงในภาพรวมที่บ้านรับน้องชายก่อกับนักศึกษามหาวิทยาลัยแล้ว อาร์มสตรองกล่าวว่า “การปฏิรูปหรืออนุรักษ์องค์กรเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล”
ถึงแม้ว่าบ้านรับน้องชายทั้งหมดจะไม่ได้เป็นสนามล่าสำหรับพวกผู้ข่มขืน และผู้ชายทุกคนที่เข้าร่วมสมาคม (หรือทีมกีฬา) จะไม่ได้เป็นนักล่าทุกคนก็ตาม ในเมื่อความรุนแรงทางเพศจำนวนมากเกี่ยวเนื่องกับด้านหนึ่งของชีวิตนักศึกษาขนาดนี้ มาตรการบางอย่างเป็นสิ่งที่จำเป็น
สำหรับเวสเลยัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีสมาคม “โรงงานการข่มขืน”นั้น ผู้บริหารได้ตัดสินใจว่ามาตรการนั้น คือการบังคับให้มีการยอมรับผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งของบ้านรับน้องชายด้วย มหาวิทยาลัยได้ประกาศในสัปดาห์นี้ว่า สมาคมทุกสมาคมต้องเป็นสหศึกษาภายใน 3 ปี ในขณะที่ข้าพเจ้ายกย่องสิ่งที่เป็นการผลักดันความเท่าเทียมในทางทฤษฎี ข้าพเจ้าก็รู้สึกไม่ดีกับความคิดที่ใช้ผู้หญิงเป็นพลังในการทำให้พฤติกรรมแย่ของผู้ชาย “เป็นอารยะ” เช่นนี้
ทำไมจึงต้องพยายามซ่อมสิ่งที่พังไปแล้วอย่างสิ้นเชิง? สิ่งที่ดีกว่า คือการมองสถิติและเรื่องเล่าต่างๆจากมหาวิทยาลัย และดำเนินการตามที่ควร ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการยกเลิกบ้านรับน้องชาย คงเป็นความเพ้อฝัน คือ องค์กรเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย มีโครงการต่างๆให้กับนักศึกษา และได้รับการสนับสนุนจากศิษย์เก่าที่มีอำนาจ แต่ถ้าพวกเรามีความพร้อมที่จะท้าทายผู้บริหารมหาวิทยาลัย ฟ้องร้องด้วย Title IX*** หรือเดินแบกผ้าปูที่นอนเพื่อประท้วงแล้ว ทำไมเราจะทำสิ่งนี้ไม่ได้?
--------------------------------------------
*fraternity คือ สมาคมนักศึกษาชาย ซึ่งเป็นองค์กรในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ชื่อของสมาคมจะประกอบไปด้วยตัวอักษรกรีกสามตัว ส่วนมากจะประกอบไปด้วยนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยผู้ที่ต้องการจะเป็นสมาชิก จะต้องผ่านการ “ทดสอบ” เพื่อได้รับการยอมรับโดยสมาคม ในแง่นี้ fraternity จึงมีความคล้ายคลึงกับการรับน้องในประเทศไทยมาก (ผู้แปลจึงขอเลือกใช้คำว่า “บ้านรับน้องชาย”) อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมสมาคมเป็นไปโดยอิสระ กล่าวคือ นักศึกษาสามารถเลือกเข้าสมาคมที่ตนเองต้องการได้ (และตัวสมาคม ก็จะแข่งขันกันหาสมาชิกเช่นกัน) ตัวอย่างบทบาทขององค์กรนี้ คือ ให้การสนับสนุนทางการศึกษา ให้ที่พักกับสมาชิก จัดปาร์นี้และงานสังสรรค์ เป็นต้น
**sorority คือ fraternity สำหรับผู้หญิง
***Title IX คือ กฎหมายในสหรัฐอเมริกา ที่ว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศในด้านการศึกษา
- 225 views