Skip to main content

มิค-ตอย ศนปท. จากจุฬาฯ บอกเล่าประสบการณ์ และความรู้สึกจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในบทบาทของนิสิต-นักศึกษา ชี้หากอยากได้สังคมที่ดีต้องลุกขึ้นมาสร้างด้วยตัวเอง

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมออนไลน์รู้จักกับ มิค นายฐาปกร แก้วลังกา นิสิตปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ และตอย น.ส.ณัฐิสา ปัทมาภรณ์พงศ์ นิสิตปี 4 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากวีรกรรมถือปี๊บเรี่ยไรเงินบริจาคเพื่อจ่ายค่าปรับให้กับ สน. ปทุมวัน ในข้อหาละเมิด พรบ. รักษาความสะอาด เนื่องจากทั้งสองคนได้ทำกิจกรรมติดผ้าดำ รำลึกรัฐประหาร 2549 และวีรกรรมของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม:http://www.deklanghong.com/content/2014/10/39)

ทางทีมข่าวเด็กหลังห้องถือโอกาสนี้จึงสัมภาษณ์นิสิตทั้งสอง ถึงประสบการณ์ และแรงบันดาลใจที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

มิค นายฐาปกร แก้วลังกา และ ตอย น.ส.ณัฐิสา ปัทมาภรณ์พงศ์

เด็กหลังห้อง: ทั้งสองคนเริ่มมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่ และนอกจากการติดผ้าดำต้านรัฐประหารแล้ว ทั้งสองคนเคยทำกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ มาก่อนบ้าง?

ตอย:  เริ่มทำกิจกรรมในช่วงก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม และเคยร่วมกิจกรรมจุดเทียนที่หน้าหอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ, ร่วมกิจกรรม 10,000 up ของ บก. ลายจุด, กินแซนด์วิชหน้าสถานทูตสหรัฐฯ และยังอยู่ในกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP) แต่จะเคลื่อนไหวในนามของเครือข่ายศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.)

มิค: เพิ่งเริ่มทำกิจกรรมในช่วงก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอม 6 เดือน ทำให้มีเวลาติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น และเห็นข่าวที่ทหารจับนักศึกษาที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐประหารซึ่งเป็นประชาชนบริสุทธิ์ เป็นจุดที่ทำให้อยากลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่วนเรื่องกิจกรรม ผมเคยร่วมกิจกรรม “หนุ่มเอยสาวเอยเจ้าเคยหรือยัง?” ซึ่งเป็นกิจกรรมเปิดตัว ศนปท. ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ร่วมประท้วงต่อต้านการจัดสอบ U-NET, และอยู่ในกลุ่มปฏิรูปการประชุมเชียร์ (Anti-SOTUS),และอยู่ในกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน (CCP)

อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งสองคนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง?

ตอย: โดยส่วนตัวเป็นคนติดตามทางการเมืองมาตั้งแต่ ม.2 แล้ว และเป็นคนไม่ชอบ 2 มาตรฐาน ไม่ชอบการแบ่งชนชั้นทางสังคมที่มองคนไม่เท่ากัน ไม่เคารพในหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง สามารถขัดขวางได้แม้กระทั้งการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งของผู้อื่นโดยไม่รู้สึกเอือมระอา รวมถึงรู้สึกเบื่อกับวาทกรรมเดิมๆที่สร้างความแตกแยก ทำให้รู้สึกว่าไม่อยากนั่งบ่นอยู่หน้าเฟซบุ๊คอีกต่อไป อยากทำอะไรซักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่เราต้องการ

มิค: รู้สึกไม่อยากนั่งอยู่เฉยๆ และรอคอยการเปลี่ยนแปลง แต่อยากเป็นคนสร้างความเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นมาเอง

สิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมทางการเมืองที่เราหาไม่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยคืออะไร?

ตอย:  ได้เปิดพื้นที่แสดงเสรีภาพทางความคิด ได้เจอคนที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตยแบบเดียวกัน สามารถแสดงพลังได้ชัดเจนและช่วยกันทำกิจกรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายที่เรามีร่วมกัน

มิค: หนึ่งเลยก็คือ การถูกตำรวจเรียกให้ไปมอบตัวครับ  สองก็คือ ประสบการณ์ในการติดต่อ ประสานงาน การวางแผนทำงาน ที่เป็นงานจริงๆ ที่ทำแล้วไม่ได้คะแนน สุดท้ายก็คงเป็น การได้ทำตามอุดมการณ์ครับ และมันยังเป็นบททดสอบความยึดมั่นในแนวคิดของเราด้วย เพราะอย่างที่บอก ว่าทำก็ไม่ได้คะแนน เงินก็ไม่ได้ เสียด้วยซ้ำ แล้วก็ยังเสี่ยงถูกจับอีก ทดสอบว่าเราพร้อมที่จะแลกอะไรเหล่านี้ได้รึเปล่า พร้อมที่จะเสียสละเพื่อสิ่งที่เรายึดมั่นได้รึเปล่า  สิ่งเหล่านี้มหาวิทยาลัยไม่เคยสอน และไม่เคยสอบครับ

คิดอย่างไรกับความคิดที่ว่า “หน้าที่ของนักศึกษาคือเรียน มิใช่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง” ?

ตอย: มันก็จริง หน้าที่หลักของนักศึกษาก็คือการเรียน แต่เรื่องกิจกรรมก็เป็นทางเลือกที่ขึ้นอยู่กับความสนใจของแต่ละคนสังคมก็ควรจะเปิดกว้างให้กับความคิดที่หลากหลาย ไม่ใช่ปิดกั้นเพียงเพราะความคิดที่ว่านักศึกษาต้องเรียนภายใต้ระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว อีกทั้งนักศึกษายังเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ การเปิดพื้นที่ให้กับนักศึกษาจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ต้องการเห็นสังคมพัฒนาไปในแนวทางใด

มิค: ผมคิดว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะการเมืองเป็นเรื่องของพลเมืองทุกคน ตราบใดที่นักศึกษายังเป็นพลเมือง พวกเราก็สามารถออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองได้  การทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ใช่หน้าที่ของใคร หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันเป็นสิทธิของทุกคน

คิดอย่างไรกับบทบาทของนิสิตนักศึกษาในการเมืองระลอกนี้?

ตอย: ถือว่าดีมาก เพราะเท่าที่ผ่านมากระบวนการนักศึกษามีความกระจัดกระจาย แต่ครั้งนี้เรามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจากหลากหลายมหาวิทยาลัย โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นผลจากการที่เยาวชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว และง่ายขึ้น ทำให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นด้วย

มิค: คิดว่ามีความเข้มข้นมาก เนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหวผ่านเครือข่าย ระหว่างมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังดึงความสนใจของสื่อต่างชาติได้ดี ช่วยสร้างแรงกดดันไม่ให้รัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจ

การถือปี๊บที่ผ่านมานั้น นอกจากเป็นการเรี่ยไรเงินบริจาคแล้ว มีนัยยะอย่างอื่นไหร่ไม่?

ตอย: ที่ผ่านมาเราจะเห็นการใช้ปี๊บเป็นสัญลักษณ์ถึงการยอมรับแต่ไม่เห็นด้วย เช่นการที่อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลท่านหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการที่อธิการบดีรับตำแหน่ง สนช. จึงเอาปี๊บคลุมหัวเข้าประชุม เพื่อสื่อว่าเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากมันเป็นคำสั่งจากรัฐบาล เขาจึงไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้ ทำได้แต่ยอมรับและเอาปี๊บคลุมหัวแสดงความไม่เห็นด้วยเท่านั้น ซึ่งก็เหมือนกับกรณีของเรา เรายอมรับว่าสิ่งที่เราทำมันขัดต่อกฎหมาย แต่เราไม่เห็นด้วยที่เราต้องเสียค่าปรับเพราะคนบางกลุ่มที่มาปิดถนนอยู่เป็นเดือนๆ ติดแผ่นป้ายเต็มท้องถนน ที่หน้ามหาวิทยาลัยเดียวกันกลับทำได้โดยไม่เสียค่าปรับใดๆ เลย

มิค: นอกจากประเด็นของตอยแล้ว การถือปี๊บถือเป็นการหยั่งเสียงด้วย เพราะเมื่อเราทำกิจกรรม เราก็อยากจะรู้ว่ามีคนเห็นด้วยกับเรามากเท่าไหร่ ซึ่งจากจำนวนเงินบริจาค และจำนวนผู้มาถ่ายรูป และให้กำลังใจกับเราได้แสดงให้เห็นว่ามีผู้เห็นด้วยกับเรามากพอสมควร ทำให้เรามีกำลังใจจะจัดกิจกรรมต่อไป

ภาพเรียไรเงินบริจาค

สุดท้ายนี้อยากจะฝากอะไรให้กับบรรดานิสิตนักศึกษาที่รู้สึกอยากลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ยังลังเลใจอยู่?

ตอย: การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคนทั้งในทางตรงและทางอ้อม ไม่มีหรอกสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มีแต่ประชาธิปไตยที่ค่อยๆมีวิวัฒนาการ หากเรารู้สึกอึดอัดต่อสภาพทางการเมืองที่เป็นอยู่ ควรออกมาแสดงพลังแม้จะเป็นพลังเล็กๆก็ยังดีกว่าการหยุดอยู่ที่เดิม หรืออยู่ในกรอบเดิมๆ ที่อดทนและหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเอง สุดท้ายเราก็จะไม่มีวันจะได้สังคมในแบบที่เราต้องการ

มิค: การเรียกร้องทางการเมืองเป็นสิทธิ์ของประชาชนทุกคนที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่เราต้องการ แต่การออกเรียกร้องมามันก็มีต้นทุนหลายอย่างที่เราต้องพิจารณา เราอาจจะถูกจับ ถูกปรับ หรือถูกสังคมตีตรา เราจึงต้องชั่งใจดูว่ามันคุ้มค่าหรือเปล่า แต่สำหรับผม ผมคิดว่ามันคุ้มค่า เพราะถ้าเราเอาแต่บ่นอยู่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือ เราก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย เมื่อพร้อมที่จะเสี่ยง ก็ลุกขึ้นมาครับ  สังคมจะเปลี่ยนแปลงได้ ก็ต่อเมื่อเราลงมือเปลี่ยนแปลงมัน