Skip to main content

เป็นภาพแปลกตาสำหรับผู้ที่ผ่านไปมาบริเวณประตูต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นครั้งแรก จะเห็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จอดเข็นรถผ่านประตูทางเข้า หรือผู้ซ้อนท้ายบางคนต้องลงเดินขณะที่รถจักรยานยนต์ผ่านประตู แต่พอพ้นประตูทางเข้าไปเพียงไม่กี่เมตรก็กลับไปขับขี่ตามปกติ แต่สำหรับบุคลากร ม.บูรพา เป็นภาพเหล่านี้ได้กลายเป็นสิ่งคุ้นชินตั้งแต่โครงการขับขี่ปลอดภัยสวมหมวกนิรภัย 100% เริ่มดำเนินการ

ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยต้องใช้วิธีเข็นรถผ่านประตูหน้ามหาวิทยาลัยบูรพา

ความเป็นมาของโครงการขับขี่ปลอดภัยสวมหมวกนิรภัย 100% แหล่งข่าวจากสถานีตำรวจภูธรแสนสุข ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวเริ่มจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 โดยรณรงค์ที่ ม.บูรพาเป็นที่แรก ผ่านการประสานงานระหว่างตำรวจกับคณาจารย์ในแต่ละคณะ เพื่อเข้าไปนำเสนอนโยบาย ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้สวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อน

การดำเนินงานในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระยะแรกจะประจำบริเวณทางเข้าออกมหาวิทยาลัย เมื่อมีการกระทำผิดเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการตักเตือนโดยไม่มีใบสั่ง ในส่วนของมหาวิทยาลัยใช้การตัดคะแนนความประพฤติ

ทว่าหลังจากโครงการสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการตั้งจุดสกัด  เป็นประจำ วันจันทร์-ศุกร์ เฉพาะถนนสายหลัก คือ ถ.สุขุมวิทเท่านั้น แต่ถนนโดยรอบมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นถนนสายรอง มีการตั้งจุดสกัดเป็นบางโอกาส ประมาณ 4-5 ครั้งต่อเดือน หรือตามแต่ความเหมาะสม

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากสถานีตำรวจภูธรแสนสุขเปิดเผยเพิ่มเติมว่า สองปีที่ผ่านมามีนิสิตนักศึกษาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถจักรยายยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย แต่ภายหลังดำเนินโครงการแม้จะมีการเกิดอุบัติเหตุอยู่บ้าง เดือนละประมาณ 2-3 ราย แต่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ฝ่ายผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎจราจรภายในมหาวิทยาลัยโดยตรง อย่างพนักงานรักษาความปลอดภัยหน้าประตูซอยสดใสกล่าวว่า เห็นด้วยกับการใช้มาตรการบังคับใส่หมวกนิรภัย เนื่องจากเชื่อว่าสามารถป้องกันอันตรายให้กับผู้สวมใส่ได้จริง ทั้งยังต้องการให้มีการใช้หมวกนิรภัยมากขึ้นแม้จะเป็นการปฏิบัติแบบผ่าน ๆ ขอไปที เช่นการเข็นรถเข้าประตูมหาวิทยาลัยแทนการขับขี่ ตนก็ถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบอะไรจากการใช้มาตรการนี้ และยังคงปฏิบัติหน้าที่เช่นเดิม

ขณะที่นายวินัย ชัยศรี พนักงานรักษาความปลอดภัย บริเวณประตูหน้า ม.บูรพา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวทำให้มีการสวมหมวกนิรภัยมากขึ้นจริง แต่ก็ยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยแทบทุกวัน ขณะที่โครงการดังกล่าวทำให้พนักงานรักษาความปลอดภัยมีภาระมากขึ้น แต่ค่าตอบแทนยังคงเท่าเดิม และต้องเผชิญกับความกดดันจากทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยและนิสิต

“ถ้าผมไม่ทำผู้ใหญ่เขาก็ด่า มันเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยเขา ผมก็ไม่อยากจะทำหรอกครับ แต่มันเป็นกฎของมหาวิทยาลัย” นายวินัยกล่าว

สังเกตได้ว่ายังมีการปฏิบัติผิดกฎจราจรภายในม.บูรพา โดยคนซ้อนไม่สวมหมวกนิรภัยและซ้อนเกินหนึ่งคน แม้รถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ส่วนใหญ่จะมีหมวกนิรภัยก็ตาม

ด้านความเห็นของนิสิต ม.บูรพา จากการสอบถามพบว่าส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายบังคับให้สวมหมวกนิรภัย

นายอัครดนัย บุญอุไร นิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา เล่าว่า รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ตนใช้สัญจรเป็นหลัก เนื่องจากรวดเร็วและสะดวกสบายกว่ารถบริการของมหาวิทยาลัย แม้จะมีการบังคับให้สวมหมวกนิรภัย แต่ตนไม่เห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะนิสิตแต่ละคนจะสวมแค่ให้พอผ่านเข้ามหาวิทยาลัยได้เท่านั้น

นอกจากนี้ นิสิตคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายดังกล่าวยังก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนิสิตกับพนักงานรักษาความปลอดภัย เช่น กรณีฝนตก หมวกนิรภัยเปียกจนไม่สามารถสวมได้ แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยไม่ยอมให้ผ่านประตู ทำให้เกิดการทุ่มเถียงกันและยังมีกรณีความขัดแย้งอื่น ๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ยังคงมีการสัญจรภายใน ม.บูรพา โดยไม่สวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อน

เช่นเดียวกับนางสาวสรัลดา สินสงวน นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ม.บูรพา ให้ความเห็นว่า นโยบายบังคับให้สวมหมวกนิรภัยเป็นนโยบายที่ไม่เกิดประโยชน์ เพราะนิสิตสวมหมวกนิรภัยแค่ช่วงทางเข้าประตูมหาวิทยาลัย แต่พอพ้นจากพนักงานรักษาความปลอดภัยก็ถอดออก และการกวดขันเฉพาะขาเข้า ไม่กวดขันขาออก รวมถึงอนุโลมให้เข็นรถผ่านกรณีที่ไม่มีหมวกนิรภัย เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดนัก

ด้าน นายชวิศ วรสันต์ นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า ภายหลังโครงการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ มีการตั้งด่านตรวจภายในมหาวิทยาลัยเพื่อหักคะแนนความประพฤติ แต่ดำเนินการได้เพียงเดือนเดียวก็ได้รับการต่อต้านจากผู้ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกระแสต่อต้านทางเฟซบุ๊ค ผ่านแฟนเพจ ‘หน้าม.บูรพามีด่านบอกด้วย’ (https://www.facebook.com/pages/หน้ามบูรพามีด่านบอกด้วย/) รวมถึงมีการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรงระหว่างนิสิตกับพนักงานรักษาความปลอดภัยจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน แต่ในปัจจุบันผ่อนปรนความเข้มงวดลงมากจนกลายเป็นเรื่องขำขัน แต่ยังไม่มีการยกเลิก

น่าสนใจว่าการบังคับใช้กฎจราจรตามโครงการขับขี่ปลอดภัยสวมหมวกนิรภัย 100% เป็นการดำเนินงานที่เกิดประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ หลังการดำเนินโครงการนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างผู้บังคับใช้กฎกับผู้ขับขี่รถจักรยายนต์ และต้องลงเอยด้วยการหลบเลี่ยงการบังคับใช้กฎจราจรจากทั้งสองฝ่ายเพื่อลดการปะทะแทน.

 

หมายเหตุ : รายงานนี้เขียนโดย กลุ่ม Enlighten  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมเสริมศักยภาพเยาวชนสื่อข่าว โดยประชาไทร่วมกับเด็กหลังห้อง ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2557 บางแสน จ.ชลบุรี